“ถ้าเรารักงานที่เราทำ ถ้ามีความอยากเข้าไปอยู่ในหัวสมองเมื่อไหร่ ก็ไม่ต้องมีอะไรแล้ว”
แมน ตนุภพ โนทยานนท์
มือกีตาร์ละอองฟอง มัณฑนากร นักแต่งเพลง และครูแมน BNK48
เรียบเรียงจากรายการแมวค้นฅน 29 มีนาคม 2561
แมวค้นฅนวันนี้ แขกรับเชิญพิเศษของเราเป็นนักดนตรี มัณฑนากร มือกีตาร์ละอองฟอง และเป็นอีกผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ BNK48 ...ขอต้อนรับคุณผู้ฟังเข้าสู่รายการแมวค้นฅนนะคะ สามทุ่มจนถึงสี่ทุ่ม อยู่ด้วยกันที่นี้กับเปิ้ลหน่อย แล้วก็พี่แมน ตนุภพ โนทยานนท์
สวัสดีครับ
เป็นครั้งแรกเลยที่เปิ้ลหน่อยได้พูดชื่อและนามสกุล
ใช่ครับ ปกติทุกคนจะรู้จักผมในชื่อแมน ละอองฟองครับ แล้วก็ตอนนี้มีฉายาใหม่เป็นครูแมน
ครูแมน BNK48: Thai Co-Music director
เมื่อกี๊เปิดเพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ (Koisuru Fortune Cookie)ไปค่ะ ให้พี่แมนเล่าถึงความผูกพันกับเพลงๆ นี้หน่อย
เป็นเพลงที่ผูกพัน เพราะว่าเราฟังบ่อยมาก คนทั่วไปๆ ก็ฟังบ่อยแล้วแหละ แต่เราเป็นคนอยู่เบื้องหลัง เราฟังเป็นร้อยเป็นพันก็ไม่เคยนับ ผูกพันมากขนาดนอนฝันถึงไหม ก็ไม่ขนาดนั้น
พอเพลงดังมากๆ เนาะ ไปทุกที่ เราได้ยินหมดน่ะ มีช่วงที่ Facebook ทุกคนแชร์เพลงนี้ ทุกคนเต้นเพลงนี้ ทุกคนร้องเพลงนี้ เรายังรู้สึกว่าฟังเยอะ นึกภาพคนทำก่อนออกมาเป็นเพลงๆ หนึ่ง ไม่รู้ว่าต้องฟังกี่รอบ
ใช่ๆ เราไม่ได้ฟังแค่เวอร์ชั่นนี้ด้วย ดังนั้นบางทีเราอาจจะมีเนื้อเก่าๆ แว้บเข้ามาในหัวบ้าง
สำหรับเพลงนี้หน้าที่ของพี่แมนจริงๆ คืออะไรคะ... คิดท่าเต้น (หัวเราะ)
(หัวเราะ) ถ้าพูดถึง BNK48 ผมเข้าไปทำอะไรในนั้นใช่ไหม
ค่ะ
ตอนนี้ทุกคนเรียกว่าครู แต่จริงๆ แล้ว ตำแหน่งเป็น Thai Co-Music director
Thai Co-Music director หน้าที่คือ?
หน้าที่คือดูแลเกี่ยวกับเรื่องโปรดักชั่นของเพลงทั้งหมด ตั้งแต่ที่เราได้รับเพลงมา เขายื่นคำแปลส่งมาให้ เราจัดการเปลี่ยนคำแปลนั้นเป็นเนื้อเพลงไทย ทำเสร็จแล้วก็ส่งแก้ ปรับจนผ่านปั๊บส่งให้คนร้องไกด์หรืออาจจะเป็นพวกเราร้องกันเอง เสร็จแล้วก็สอนน้องๆ ให้ร้อง สอนวิธีการร้อง การใช้อารมณ์ในการร้อง เทคนิคต่างๆ สอนเสร็จให้น้องๆ เข้าห้องอัด Edit ช่วยบ้างเพื่อให้ดีที่สุดให้เพลงได้มาตรฐาน แล้วก็มิกซ์ มาสเตอร์จนได้เป็นผลงานเพลงขึ้นมา
เหมือนเป็นวงเราเองเลยนี่คะ แค่ไม่ร้องเท่านั้นเอง
ดนตรีและเรื่องราวถูกถ่ายทอดมาจาก AKB อยู่แล้ว เราก็ยึดถือตรงนั้นเป็นหลัก
วิธีการยุ่งยากมากน้อย หรือว่าซีเรียสระเบียบจัดแค่ไหนคะในการที่เราต้องยึดถือต้นฉบับของเขาให้ได้
ก็ไม่ละเอียดเท่าไหร่ครับ แค่เขาขอให้ได้ ประมาณสักไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แค่ 99 เปอร์เซ็นต์ก็พอ (หัวเราะ)
(หัวเราะ) ทิ้งไว้ตั้ง 1 เปอร์เซ็นต์แน่ะ
ทุกอย่างต้องเป๊ะหมดเลย ความหมายของเพลงก็ต้องให้ครบด้วยนะ เขาต้องการให้อธิบาย ประเด็นนี้ คำนี้ ต้องมี แล้วทำนอง ห้ามเปลี่ยนอยู่แล้ว ต้องเป๊ะมาก เป๊ะในที่นี้คือ 1 2 3 ก็คือต้อง 1 2 3 ไม่ใช่ 1 3 2 หรือเป็น 1 4 3 ไม่ได้
เราต้องแปลเป๊ะๆ เลยใช่ไหมคะ
พยายามปรับให้น้อยสุด ถ้าฟังแล้วเขาไม่รู้สึกอะไรก็โอเค แต่ถ้าฟังแล้วเขาติด เขาวงมาเลย “พยางค์นี้ไม่ได้” “ห้ามมี” “หรือพยางค์นี้หายไป” ตัวโน้ตตัวไหนเพี้ยน ร้องมาเพี้ยน เขาก็จะวงมาเลย “ ไม่ใช่โน้ตนี้” หรือ “มันเพี้ยน”
ห้ามบิดโน้ตด้วย
ห้ามบิดโน้ตเลย
หูย การไม่บิดโน้ตกับภาษาไทย น่าจะยากมากนะคะ เพราะภาษาไทยมีวรรณยุกต์ที่ตายตัว “ไข่” “ขาย” ก็ไม่เหมือนกันแล้ว
ใช่ๆ เอก โท ตรี เปลี่ยน ความหมายเปลี่ยนหมดเลย ดังนั้นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับของคนไทย คือภาษาญี่ปุ่นเขาไม่มีวรรณยุกต์ ภาษาไทยพอมีวรรณยุกต์ปั๊บ กลายเป็นข้อจำกัดที่ยากมาก บางคำเปลี่ยนแค่คำเดียวไม่ได้ ต้องเปลี่ยนทั้งประโยคเลย เพื่อให้ Smooth ที่สุด
โดยที่ความหมายยังต้องเป็นของเขาอยู่
ใช่ กว่าจะมาเป็นเพลงหนึ่ง เราก็แกล้งทดลองเหมือนกันนะ แกล้งผิดนิดหนึ่ง อาจจะผิดโน้ตนิดหนึ่ง อยากร้องแบบนี้ แต่เขาบอกว่าเขาฟังแล้วสะดุดหู “ไม่ได้ ต้องเปลี่ยน” เราก็ต้องเปลี่ยน บางทีเปลี่ยนแค่เสียงก็ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนคำไปเลย เพราะวรรณยุกต์เพี้ยนไปแล้ว ก็จะยากเรื่องพวกนี้ด้วย
อย่างนี้วิธีการทำงานของพี่แมนในเพลงของ BNK48 กับการทำงานเพลงไทยของคนอื่น หรือแม้แต่เพลงของตัวเอง แตกต่างกันไหมคะ
ถ้าพูดถึงเพลง ในขั้นตอนที่ทำให้ BNK48 มีทำนองมาแล้ว มีเรื่อง มีทุกอย่างมา เราแค่เอาสิ่งที่เราได้รับมาทำให้ดีที่สุด ด้วยรูปแบบวิธีการที่เราเคยทำ แต่ถ้าเป็นเพลงของเราเอง บางทีเราก็ต้องเริ่มจากจะทำรูปแบบเพลงเป็นแบบไหน สไตล์ไหน มีกระบวนการคิดเยอะกว่า แต่ว่าข้อจำกัดของเมโลดี้ต่างๆ นานา ไม่เหมือนเขา
ภาษาไทยมีเรื่องของชั้นภาษาด้วย ภาษาอังกฤษ เขาใช้ I You ในเพลงได้เลย แต่เพลงไทย ใช้ ฉัน เธอ ซึ่งเวลาพูดเราก็ไม่ได้พูดแบบนั้น แล้วอย่างเพลงญี่ปุ่นหลายๆ ที่แอบได้ยินมา จะเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ อย่างนี้ขัดกับเวลาเราแต่งภาษาไทยบ้างไหมคะ
ขัดไหม ในเรื่องของภาษาที่ใช้ เขาไม่ได้จำกัดหรอกว่าเราจะใช้ฉัน เธอ สุภาพหรือเป็นภาษาที่เราพูดกันเล่นๆ เพียงแต่อันดับแรกคือความหมายต้องให้ตรงที่สุดเท่านั้นเองฮะ แต่ในเพลงญี่ปุ่นจะมีอย่างหนึ่งที่แตกต่างก็คือเขาจะเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ บางทีเป็นแค่อารมณ์ เขาก็เขียนเป็นอะไรขึ้นมา เล่าไปเรื่อยๆ แหละ บางทีแต่ละท่อนไม่ซ้ำกันเลย เหมือนกับการเขียนเรียงความครับ เพลงไทยไม่เหมือนเพลงญี่ปุ่นนี่ก็คือ มีเกริ่น อธิบาย แล้วก็สรุป ท่อนที่เป็นท่อนสรุปคือท่อนฮุกนี่แหละ คนก็จะร้องบ่อยๆ ติดปากครับ
มีหลายๆ ครั้งที่ฟังเพลงของ BNK48 แล้วรู้สึกว่าไม่เหมือนเพลงที่เราได้ยินเป็นภาษาไทยอย่าง จะมีประโยคที่ยาวกว่าปกติ หรือว่ามีการเล่าเรื่องที่เยอะกว่า
ใช่ครับ แล้วก็อยากพูดถึงเพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ เพลงนี้มีสิ่งที่แตกต่างจากเพลงญี่ปุ่นอื่นๆ ของ AKB คือเพลง ‘คุกกี้ฯ’ เนื้อหาเป็นความรักน่ะ แล้วจับต้องได้ง่ายด้วยนะ การเล่าเรื่องของเขาจริงๆ ก็ซับซ้อนแหละ แต่เราก็แอบทำให้ไม่ซับซ้อนมากนะ ถ้าเราเล่าซับซ้อนเหมือนเขามาก คนไทยก็จะไม่เข้าใจ นี่คือสิ่งที่แตกต่างจากเพลงอื่นๆ ที่เอามาทำครับ
ถามนิดหนึ่งค่ะ ความซับซ้อนที่ว่าของญี่ปุ่นนี่ พี่แมนพอเล่าได้ไหมคะว่าเขาพูดถึงอะไรบ้าง นอกเหนือจากที่มีในเพลงภาษาไทยเรา
อย่างเพลง ‘คุกกี้ฯ’ มีท่อนพรีคอรัสที่บอกว่า “เหมือนว่าฉันนั้นเคว้งคว้างลอยไปกับเสียงเพลง” แต่ที่เขาแปลมา คือ “เหมือนฉันกำลังนั่งอยู่ในคาเฟ่ หรือนั่งอยู่ในร้านอาหารสักที่หนึ่ง แล้วก็ฟังเพลง เสียงดนตรีก้องอยู่ในหัวตลอดเวลา ทำให้ฉันต้องกระทืบเท้าเป็นจังหวะตามเสียงเพลงนั้น ด้วยความสับสนแล้วก็ไม่แน่ใจ” ซึ่งเป็นการอธิบาย เล่าไปเรื่อยๆ แต่ “เมื่อฉันนั้นกระทืบเท้าลงไปกับเสียงเพลง” นี่ภาษาไทยก็ต้องสวยงามกว่านั้นใช่ไหม (หัวเราะ)
เราก็บอกเขาว่า เหมือนมีเสียงเพลงอยู่ในหัวก้องตลอดเวลา สับสนๆ ทำไงดี เธอจะรักฉันไหม แล้วแต่งไป เพิ่มนิดหนึ่งว่า สรุปเธอจะรักฉันไหม เธอจะเข้าใจฉันไหม เธอจะมองฉันไหม มาให้คุกกี้ทำนายกัน นี่คือบทสรุปที่เราทำขึ้นมาเอง ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเขามาก แต่ว่าก็ทำให้คนไทยเข้าใจ
เพราะมากเลยนะคะ “เพราะว่าฉันนั้นเคว้งคว้างลอยไปกับเสียงเพลง” ฟังแล้ว ลอยจริงๆ น่ะ
เพราะเรื่องเมโลดี้ เรื่องอะไรหลายๆ อย่างประกอบกันน่ะครับ
มีน้องบอกมาในคอมเมนต์ไลฟ์เฟสบุ๊กว่าชอบเพลงหนึ่งที่พูดถึง “หัวลำโพง เสาชิงช้า”
เพลงนั้นเรียกว่าเป็นเพลงชาติของ BNK48 ชื่อเดียวกับวงเลย ‘BNK48’ ซึ่งเพลงเดิมของ AKB48 เป็นเพลงที่เขาแนะนำสถานที่ย่านอากิฮาบาระ ก็คือ AKB ของเราก็เลยเหมือนกับแนะนำที่ในกรุงเทพฯ BNK Bangkok ครับ ก็เป็นเพลงที่ต้องรวบรวมสถานที่น่าสนใจ รวมถึงอาหารการกิน นี่คือเพลงหนึ่งที่ไม่ต้องเหมือน เราไมได้แปลเหมือนกับเขา แต่เขาให้เราหาสถานที่มาจำนวนหนึ่ง แล้วเขาก็อยากดูว่าเหมาะสมหรือน่าสนใจอย่างไร แล้วเขาสรุปมาปั๊บ ก็ได้มาสัก 40 ที่ ให้เอาชื่อทั้งหมดนี้มาใส่ในเพลงให้หน่อย
BNK48 ปีที่สองแล้วเนาะ เรารู้สึกแป๊บเดียวเอง ต้องถามคนทำว่าพี่รู้สึกแป๊บไหมคะ
แป๊บเดียวๆ เพราะว่าย้อนไปตั้งแต่เริ่มกำเนิดจริงๆ ผู้บริหารเริ่มที่จะคิดโปรเจ็กต์นี้ประมาณ 2 ปีแล้วนะ แต่ผมเข้ามาประมาณปีกว่าๆเข้ามาตอนน้องๆ ออดิชั่น รอบสุดท้าย
ตอนนั้นเราเห็นภาพที่เป็นแบบตอนนี้ไหมคะ
ตอนนั้นเรานึกไม่ออกเหมือนกันว่าลักษณะธุรกิจแบบนี้กับเมืองไทยจะโอเคไหม แต่พอเราได้ลองทำงาน เราก็ทำงานเต็มที่แหละ ต้องเทรนเด็กๆ ให้เขามีประสิทธิภาพมากที่สุด แล้วเราก็หวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะต้องมีชื่อเสียง แล้วตอนที่รู้ว่าทางญี่ปุ่นต้องการให้เราทำเพลง‘ คุกกี้เสี่ยงทาย’ ด้วย เรารู้สึกว่าดังแน่เลย
รู้ตั้งแต่ตอนนั้นเหรอคะ
เรารู้สึก เพราะว่าย้อนไปสามปีก่อนหน้านั้น ละอองฟองเคยอยากได้เพลงนี้เป็น Reference ว่าถ้าทำชุดที่ 4 ให้เป็นแบบญี่ปุ่นจ๋าไปเลยไหม พี่เอ๊ะ (พงศ์จักร พิษฐานพร – เบส ละอองฟอง) อร (กรกมล ชัยวัฒนเมธิน – ร้องนำ) นั่งดูด้วยกัน พี่เอ๊ะเป็นคนหามาให้ดูว่าแบบนี้ดีไหม เราก็ชอบอยู่ เลยคิดว่าถ้ามีโอกาสอยากทำแบบนี้ แล้ววันนั้นก็มาถึง เราได้แต่งเพลงนี้เลยจริงๆ ก็รู้สึกดีจริงๆ เรารู้สึกเลยว่าเพลงนี้ต้องดัง เพราะเราคิดว่าเพลงนี้ป๊อป แล้วแมสแน่
แมน – นักดนตรี
พี่แมนเล่าจุดเริ่มต้นเรื่องดนตรีของตัวเองให้เราฟังหน่อยได้ไหมคะ
ตั้งแต่ ป. 1-2 เลย ที่เริ่มสนใจดนตรีจริงๆ ก่อนหน้านั้นตอน 4 ขวบชอบวาดรูป ชอบศิลปะ แล้วพอช่วงขึ้น ป. 1-2 เล่นดนตรีไทย แรกๆ ที่เคยจับเป็นอังกะลุงมั้ง เล่นกับเพื่อนๆ หลายๆ คน นะ แล้วก็มีขลุ่ย ระนาด ซอ ทุกอย่าง
พี่ตั้งวงคนเดียวได้เลยนะคะ เล่นได้เยอะ
จริงๆ เป็นคนที่ชอบเล่นเยอะมาก เป็นคนขี้เบื่อ เวลาเล่นชิ้นหนึ่งแล้วก็อยากเล่นอีกๆ เหมือนเราสนใจดนตรีแล้วเราอยากไปเรื่อยๆ ชิ้นนี้ได้แล้วก็อยากจะไปชิ้นนู้น วงปี่พาทย์นี่คือเล่นได้หมดทุกชิ้น ยกเว้นปี่ต้องใช้ลมเยอะ ไม่ไหว
นั่นคือยุคประถม
ตั้งแต่ ป. 2-6 แล้วมีดนตรีชิ้นเอกคือขลุ่ย ตอนนั้นอยู่นครปฐม เราได้รางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษา ภูมิใจมาก เราก็ใช้เครื่องดนตรีชิ้นนี้เป็นเครื่องดนตรีเอกที่เราชอบ ปัจจุบันยังเล่นได้อยู่ เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่พกง่ายๆ
เท่มากเลยนะ คนที่เล่นขลุ่ยได้
เท่ๆ แต่สมัยนั้นที่เป่าแล้วคนชอบมองจมูก (หัวเราะ) จมูกโต เขาก็จะแอบแซว แต่เมื่อเป่าไปแล้วนี่ก็เอาน่า ตอนนั้นเรียกว่าเป็นคนขลุ่ยของโรงเรียน แล้วพอมัธยมเริ่มเล่นกีตาร์ เล่นเบส เล่นกลอง เล่นคีย์บอร์ด ก็เล่นทุกอย่างที่เล่นได้ เหมือนอย่างที่บอก เป็นคนขี้เบื่อ แล้วก็ชอบดนตรี มีอะไรเกี่ยวกับดนตรีเราก็อยากทดลองจนรู้หมด แต่ที่จริงทั้งหมดทั้งมวลที่เล่น ก็ไม่ได้เก่ง เพียงแต่ว่าเราเล่นได้เยอะแค่นั้นเอง
เวลาเราฟังเพลงในหัว ก็จะสามารถอยู่ได้ในทุกจุดของเพลง ด้วยความที่เราเข้าใจมันทุกชิ้น
ใช่ ก็มีประโยชน์เกี่ยวกับการเรียบเรียงเพลง ในการแต่งเพลง พอเราได้รู้จักเครื่องดนตรีทุกชิ้น เราก็จะทำทุกอย่างได้เอง เราจะเข้าใจมัน
แมน ละอองฟอง
พี่แมนอยู่กับละอองฟอง กับพี่เอ๊ะตั้งแต่ยุคแรกสุดเลยใช่ไหมคะ
ใช่ครับ ตั้งแต่ปี 2537 หรือ 39 จำไม่ได้ฮะ เราเป็นน้องสุดท้องของละอองฟอง เริ่มจากพี่เอ๊ะแล้วมือกีตาร์เคยมีอยู่แล้ว เขาออกไป เราเข้ามาทีหลัง ช่วงนั้นยังเรียนอยู่เลย ประมาณปี 4 ยุคแรกของละอองฟอง นักร้องคือคุณชมพู่ (วิสาห์ อัทธเสรี) แต่พอมายุคที่สองก็เปลี่ยนเป็นน้องอร ห่างกันประมาณ 7-10 ปี ละอองฟองจะเป็นคอนเซ็ปต์ คืออัลบั้มหนึ่งห้ามน้อยกว่า 7 ปี (หัวเราะ)
เปลี่ยนยุคแล้วการทำงาน ความคิด หรือตัวเพลงของละอองฟองเปลี่ยนไปไหมคะ
ความคิดในการถ่ายทอดไม่เปลี่ยน คือเรามักมองโลกในแง่ดี แล้วทุกอย่างที่ออกมาจะมีแต่รอยยิ้มน่ะ ถ้าฟังเพลงละอองฟองนะ แต่สิ่งที่เปลี่ยนอาจจะแนวเพลง คือ โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ชุดแรกเราใส่ไปทุกอย่างเท่าที่เราอยากทำ โดยไม่รู้ว่าผิดหรือถูก เรียกว่าแนวลองผิดลองถูก พอใส่ไปหมดปุ๊บ ชุดที่สองเราพอจะรู้เรื่องหลักการ เรื่องของทฤษฏีบ้างแล้ว เราก็ทำให้อยู่ในหมวดที่ถูกต้องมากขึ้น มีระเบียบแบบแผนมากขึ้น แต่ความสนุกยังมีเหมือนเดิมนะ ความซนของเรายังเหมือนเดิม แต่ทุกอย่างจะอยู่ในกรอบที่มีมาตรฐาน เป็นปัจจุบันมากขึ้น
พี่ๆ ละอองฟองนี่ เราจะเห็นมาตลอดว่า Energy ของวง คือ มองโลกในแง่ดีมาก สดใส สนุกสนานมาก ตอนทำงานด้วยกันสองคน หรือพี่เอ๊ะมาทำงานตัวเองก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ Energy พี่ๆ ไม่เคยตกเลยใช่ไหมคะ
ใช่ครับ คือ ด้วยดนตรี มีความไม่หยุดนิ่งน่ะ ละอองฟองเวลาทำอะไรก็จะคิดเยอะ มีความซับซ้อนของดนตรีเยอะนะ ดังนั้นคนที่ได้รับรู้จะรู้สึกว่ามีความ Alert ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าทำนองหรือการเล่าเรื่องราวจะเรียบง่ายขึ้น โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ดูนิ่งขึ้น แต่จริงๆ ด้วยดนตรีทั้งหมด องค์รวมยังมีความน่าค้นหาอยู่
คนที่ฟังดนตรีแบบผ่านๆ ก็จะรู้สึกว่าสดใส ร้องง่ายๆ แต่ข้างในนี่แบบ...
ใช่ครับผมเป็นคนที่ชอบคิดเยอะไง คิดซับซ้อนนะ ก็มีหลายๆ คน พี่เอ๊ะก็บอกเหมือนกันว่า เป็นคนที่คิดซับซ้อน คิดนู่นคิดนี่ บางทีออกมาดูไม่มีอะไรนะ แต่ทำไมกระบวนการคิดมันเยอะขนาดนี้ ไม่ได้บอกว่าเราเก่งนะ แต่เราแค่ไม่ชอบทำอะไรเหมือนคนอื่นน่ะ เขาจับคอร์ดกีตาร์กันแบบนี้ เราไม่อยากจับแบบนี้ จะได้มีความเป็นตัวของตัวเองด้วย
แมน มัณฑนากร
นอกจากทำดนตรี ยังมีอีกสายงานหนึ่งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ฝั่งทางด้านชีวิตของการเป็นมัณฑนากร เป็นอย่างไร ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
งานออกแบบจริงๆ เราเรียกว่าเป็นอาชีพเสริม แต่เป็นรายได้หลักของเรา คือผมจบสถาปัตยกรรมภายในที่ลาดกระบัง ดังนั้นนี่คืองานหลักแหละ แต่เรามักจะมองว่าเราทำงานดนตรีเป็นงานหลัก ตอนนี้ทุกคนเห็นผมในโซเชียล ผมก็จะโพสต์แต่เรื่องของงานดนตรี งานออกแบบผมไม่ค่อยได้สื่อสารกับใครเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้ว งานออกแบบเป็นงานที่เป็นรายได้หลัก เราทำมาตั้งแต่ละอองฟองชุดแรกที่ผมเรียนจบน่ะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จบปุ๊บก็ทำงานมัณฑนากรเลย พร้อมๆ ไปกับทำเพลงด้วย
จบแรกๆ พลิกไปทางผู้รับเหมา ทำงานรับเหมาด้วย อยากจะลองดูว่ามันสร้างอย่างไร
เป็นเฮียแมน
(หัวเราะ) เขาเรียกเสี่ยแมนตอนนั้น แล้วอยู่สัก 4-5 ปี ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางน่ะ เราใจดีมั้ง ทำแล้วไม่ค่อยได้กำไร ก็เปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ออกแบบ แล้วทำงานที่รู้สึกว่าเข้ากับฟีลเรามากกว่า หลังจากนั้นก็ออกแบบมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
ยังมีความสุขในการทำออกแบบอยู่จนถึงทุกวันนี้ไหมคะ
มีความสุขเพราะว่าทำแล้วได้ตังค์ (หัวเราะ) ไม่ จริงๆ เราชอบขีดๆ เขียนๆ ชอบวาดอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องพวกนี้เป็นเหมือนงานศิลปะน่ะ เรามีความสุขอยู่แล้ว ได้ทำงานที่เรารัก แล้วเราก็โอเค เรามีความสุข
งานตกแต่งภายในกับงานเต้นให้กับละอองฟอง อะไรยากกว่ากันคะ
บอกไม่ได้หรอก (หัวเราะ) อ้ะ เต้นยากกว่าก็ได้ เพราะเราไม่ได้เป็นสายเต้น (หัวเราะ) แต่ว่าพูดถึงการทำงานออกแบบกับงานเพลง คนละอย่างกันครับ บางจุดก็ยาก บางจุดก็ง่าย ถ้าเรารู้สึกว่าเราอินกับมัน แล้วเราไม่ได้ติดอะไร ไม่ได้มีอุปสรรค ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ก็โอเคครับ
มีความคล้ายกันบ้างไหมคะ สองงานนี้
ในศาสตร์ของศิลปะ ก็จะมีรูปแบบการกำเนิดเหมือนๆ กันนะ อย่างศิลปะในแง่ของงานออกแบบ ก็ต้องเริ่มจากมีคอนเซ็ปต์แล้วก็มีความต้องการ ฟังก์ชั่น ถ้าพูดถึงในแง่ของงานเพลงก็เหมือนกัน เราต้องมีคอนเซ็ปต์ของเพลงก่อน ถ้าเราทำเพลงโฆษณา ก็แล้วแต่ลูกค้าต้องการอะไร เราต้องการอะไร ลักษณะเดียวกัน กระบวนการคิดทุกอย่างเหมือนกันเลยครับ แต่ว่าสิ่งที่รับรู้ เพลงฟังด้วยการฟัง แต่งานออกแบบรับรู้ด้วยการมอง
อะไร Abstract กว่ากันคะ
ผมว่าดนตรีนะ เพราะว่า งานออกแบบส่วนใหญ่เป็น Commercial Art จับต้องได้อยู่แล้ว แต่งานเพลงบางทีเราก็แอบใส่ความเป็น Abstract คือความเป็นตัวตนเข้าไปด้วย
ฝั่งไหนมีความสุขมากกว่ากันคะ
บอกตรงๆ เลยนะ ดนตรี เพราะชอบดนตรีมากกว่า ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน หรือมีอุปสรรคต่างๆ นานา โอ้โห วันนี้เหนื่อยมาก เพลียมาก ไม่ไหวแล้ว แต่กลับถึงบ้าน หยิบกีตาร์หัวนอนขึ้นมา อยู่ได้ถึงเช้า เหมือนกับการพักผ่อนน่ะ
เราคิดว่าดนตรีเหมือนเป็นการพักผ่อน แต่งานออกแบบเป็นงานประจำที่เราทำแล้วมาพักผ่อนโดยการเล่นดนตรี
แต่ก็ทำไปด้วยกันได้
ทำไปด้วยกันได้
แมน ลูกผู้ชายตัวจริง
วันนี้เราอยู่กับพี่แมน ตนุภพ ลูกผู้ชายตัวจริง เมื่อกี๊แอบถามว่าชื่อตนุภพแปลว่าอะไร พี่แมนบอก แปลว่าลูกผู้ชาย
แปลว่าผู้ชาย ความหมายเดียวกับชื่อเล่น
งานอื่นๆ ของพี่แมนนอกเหนือจากดนตรีและตกแต่งภายใน
งานอดิเรกเหรอครับ เป็นคนชอบวาดรูปนะ พอมีเวลาไปเที่ยวหรือไปที่ไหนก็จะมีสมุดสเก็ตช์ ชอบวาดรูป ชอบประดิดประดอย พวกประดิษฐ์ของ ชอบทำของตกแต่ง แล้วพักหลังๆ นี้ชอบต่อโมเดล (หัวเราะ)
โมเดลแบบไหนคะ
โมเดลพวกกันดัม กันพลา แต่ว่าเราไม่ได้จริงจังมากนะ เราชอบประดิษฐ์ แบบตัวเล็กๆ พอมีเวลาว่างก็ลองทำดู สนุกดี ได้ฝึกหลายๆ อย่าง แล้วเราชอบตัวการ์ตูนที่เราเคยดูตอนเด็กๆ เหมือนทำแล้วได้ย้อนกลับไปวัยเด็ก แต่ตอนเด็กไม่มีตังค์ซื้อพวกนี้ไง ตอนโตก็เลยอยากทำ ต่อเล่นๆ แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำเลย เวลาว่างแทบไม่มีเลย
งานยุ่งเนาะ
ใช่ครับ อยู่กับเพลง อยู่กับเสียงเพลง อยู่กับการออกแบบตลอดเวลา
กีตาร์เล่นทุกวันไหมคะ
ได้จับทุกวันอยู่แล้ว ตอนสอนนี่บางทีใช้เปียโนบ้าง ใช้กีตาร์บ้าง แล้วบางทีเรานึกอะไรออก กีตาร์อยู่ข้างๆ ตัวแล้วจับขึ้นมา แต่ไม่ได้ถึงขนาดนั่งเล่นเป็นชั่วโมงนะ บางทีอาจจะแค่ 5 นาที 10 นาทีครับ
คนที่เล่นเครื่องดนตรีได้เยอะขนาดนี้ เครื่องดนตรีชนิดไหนที่ทำให้พี่แมนมีความสุขได้มากที่สุดคะ
ถ้าพูดถึงตอนนี้เราชอบกีตาร์นะ เพราะเราเลือกเป็นเครื่องดนตรีสุดท้าย ตั้งแต่ที่เล่นมาเยอะๆ ว่าเอาล่ะ ฝึกสักชิ้นดีกว่า สักอย่างหนึ่งขอให้ดีที่สุด
ทุกวันนี้ได้ทำทุกอย่างสำเร็จตามที่ฝันไว้หรือยังคะ คำถามนี้ครูเอ๊ะ BNK48 ฝากถามมา
ครูเอ๊ะ เคยสอนน้อง ๆ BNK48 แล้วก็สอนผมด้วยแหละ ว่าคนเราทุกคนมีพีระมิดเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ก็มีของตัวเอง ดังนั้นควรจะตั้งเป้าหมายเดินไปสู่ยอดของพีระมิดตัวเองนะ ไม่ใช่ว่าไปดูคนอื่นแล้วจะไปขึ้นพีระมิดของคนอื่น ดังนั้นถามว่าพีระมิดของผมน่ะ ผมตั้งเป้าตั้งแต่เด็กๆ ผมอยากเล่นดนตรี ผมอยากมีวงดนตรี ผมอยากมีอัลบั้มเป็นของตัวเอง อยากทำเพลง อยากแต่งเพลง อยากมีคอนเสิร์ต คือทุกอย่างที่บอกมาก็เหมือนกับว่าเราได้หมดแล้ว เราอาจจะมองว่าเราได้ทำทุกอย่างอย่างที่เราต้องการหมดแล้ว ถ้ามองว่าสำเร็จหรือยัง ผมว่าจริงๆ ก็สำเร็จนะ เพราะเราต้องการ 1 2 3 4 5 เราทำได้หมดแล้ว เราอยู่บนพีระมิดของเราแล้วนะ แต่ว่าวันนี้มีบางอย่างบอกผมว่าฐานพีระมิดของผมตอนนี้กว้างขึ้น เมื่อผมมายืนอยู่จุดๆ นี้ เหมือนกับว่าเราเห็นอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่าจะอยู่แค่นี้เหรอ เราได้ทุกอย่างตามที่เราต้องการแล้ว แต่ความสามารถเราจะอยู่แค่นี้เหรอ เราจะไม่ไปต่อจากนี้หรือ วันที่ครูเอ๊ะสอนเรื่องพีระมิดเด็กๆ ทำให้เราคิดเหมือนกันว่าพีระมิดเราแค่นี้ แต่ถ้าศักยภาพเรามากขึ้น ยอดมันควรจะไปอีกปะ
เราว่าศักยภาพเราตอนนี้น่าจะทำได้มากกว่านี้ หลายๆ อย่าง หลายๆ โปรเจ็กต์ที่ให้เราทำ ทำไมเราทำแล้วเหมือนมีอะไรมากกว่าเดิมเยอะมาก เราไม่ได้อยู่แค่ตรงนี้แล้ว ดังนั้นถามว่าสำเร็จไหม เคยสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้แล้ว แต่ว่าต่อจากนี้ยังมีอีกยอดหนึ่งที่รอเราอยู่ ซึ่งก็เป็นเหมือนพีระมิดของเราเลยแหละ คือผมอยากโปรดิวซ์ให้คนอื่นบ้าง ไม่ได้อยากทำให้ละอองฟองเท่านั้น
อุ๊ย อยากฟังเลยค่ะ ถ้าพี่แมนบอกว่าอยากโปรดิวซ์นี่ เราเตรียมตัวรอฟังได้เลยใช่ไหมคะ
ตอนนี้เราได้ไปเป็น Co-producer ของเอ๊ะ ซินโดรม เป็นอีกก้าวหนึ่ง คนกันเองให้มา (หัวเราะ) แต่ว่างานเขาไม่ใช่ละอองฟองนะ ทำให้เราข้าม เหมือนกับทลายกำแพงที่เป็นละอองฟองออกนะ เราทำแนวดนตรีแนวใหม่ ซึ่งเป็นอีกแบบหนึ่งที่เราไม่เคยทำ เป็นอีกงานหนึ่งที่จะต้องทำให้ดีที่สุด
ทำอย่างไรให้ตัวเองมีแรงกาย แรงใจ ทำงานได้อย่างสม่ำเสมอคะ
(หัวเราะ) นอน หาเวลานอนเยอะๆ
(หัวเราะ) นอนให้พอ พักผ่อนให้พอ
ง่ายๆ เลยถ้าเรารักงานที่เราทำ ถ้ามีความอยากเข้าไปอยู่ในหัวสมองเมื่อไหร่ ก็ไม่ต้องมีอะไรแล้ว อย่างไรก็อยากทำน่ะ เราว่าเต็มที่อยู่แล้ว
นี่น่าจะเป็นคำแนะนำให้กับคนที่ยังไม่แน่ใจกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ว่าจะสามารถทำได้นานไหมด้วยเนาะ ก็ทำได้นานได้แน่ๆ แหละ ถ้าเกิดว่ารักมันน่ะเนาะ
ใช่ แต่ก็พูดยากนะ เพราะบางคนอาจไม่ได้รักเสียทุกงาน บางคนจำเป็นต้องทำแบบนี้ สมมติฉันต้องทำบัญชีนะ แต่ฉันไม่อยากเป็นบัญชี ฉันอยากทำอย่างนู้นอย่างนี้ ผมก็แนะนำว่าบางทีเราต้องมองในสิ่งที่อาจจะต้องมี เป็นเป้าหมายไว้ อย่างเช่น อยากจะมีรถสักคนหนึ่ง ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่คุณต้องทำเพื่อให้ได้เงิน จะได้สิ่งที่เราต้องการ ดังนั้นถ้าเรามีเป้าหมาย เช่น อยากได้บ้าน ฉันจะต้องอะไรให้ได้บ้าน ทำงานปัจจุบันที่ไม่ชอบ แต่ฉันอยากมีบ้าน ฉันก็ต้องทำให้ได้ นี่คือจุดหนึ่งที่ทำให้มีกำลัง (จากนั้น แมนตอบคำถามทางไลฟ์และเล่นเพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ ปิดท้าย)
__________________________________________________________________
ร่วมค้นเรื่องราวของฅนหลากหลายอาชีพและมุมมองได้ในรายการแมวค้นฅน
ทุกวันพฤหัสบดี 3- 4 ทุ่ม ที่ www.thisiscat.com, app: Cat Radio , fb/thisiscatradio