อ่านหลังค้น เพลิน

อ่านบทสัมภาษณ์จากการค้นแรงบันดาลใจและประสบการณ์
ว่าที่ด็อกเตอร์เพลิน – ประทุมมาศ พรชำนิ
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็ก และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
เรียบเรียงจากรายการแมวค้นฅน 26 เมษายน 2561 ที่ Cat Radio 
สัมภาษณ์โดย ดีเจเปิ้ลหน่อย วรัษฐา พงษ์ธนานิกร 
ฟังเทปฉบับเต็มได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=finJYQyiLzk&t=47s 
 
เพลิน – ประทุมมาศ พรชำนิ
ขอต้อนรับเข้าสู่รายการแมวค้นฅน รายการสัมภาษณ์ของ Cat Radio  ซึ่งแต่ละสัปดาห์เราจะมีแขกรับเชิญพิเศษๆ มากๆ  เราขอต้อนรับพิธีกรวัยรุ่นรายการทีนทอล์ค (Teentalk: รายการวัยรุ่นที่โด่งดังเมื่อ 20 กว่าปีก่อน) 
     สวัสดีค่ะ อันนั้นมันนานมากแล้วนะ
มีใครทันบ้าง 20 ปีแล้วนะ
     20 ปีแล้วค่ะวันนั้นยังเด็กมาก
แต่ว่าตอนนี้เรามาในอีกบทบาทหนึ่งนี่คือว่าที่ดร. เพลิน ประทุมมาศ พรชำนิดีใจที่ได้คุยกับเพลินวันนี้
     ดีใจเหมือนกันค่ะ
กลับมาแล้ว
     ถ้าเกิดใครไม่ทราบ แต่น่าจะทราบมั้งเพราะว่าพี่นภก็พูดอยู่ตลอดว่าเราย้ายไปอยู่อเมริกา 10 ปีแล้ว เพิ่งย้ายกลับมาเมื่อไม่กี่เดือนนี่เอง
เราได้ยินชื่อเพลินตลอดเวลาที่เราได้คุยกับพี่นภ ไม่ว่าจะเจอกันที่คอนเสิร์ตหรือหลังเวทีจะมีชื่อเพลินพูดขึ้นมาเสมอๆ ต้องให้เพลินแนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการอีกนิดหนึ่งสำหรับคนที่อาจรู้จักแค่ว่าเป็นภรรยาพี่นภ พรชำนิ
     เป็นภรรยาพี่นภ ใช่ค่ะ แต่ว่างานที่เพลินทำก็จะเกี่ยวกับการกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็กที่มีความต้องการพิเศษ ความต้องการพิเศษ ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Special Needs เพลินทำงานในด้านนี้มา 14 ปีแล้ว แต่ตอนจบปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้จบด้านนี้นะคะ
ตอนนั้นจบสาขา..
     ศิลปศาสตร์   แต่ว่าตอนเรียนจบเราก็รู้ว่าอยากทำงานกับเด็กแล้วก็อยากทำงานกับช้าง
เดี๋ยวเราจะได้คุยเรื่องเด็กต่อ แต่ถามก่อนว่าทำไมถึงชอบช้าง
     เพราะมันตัวใหญ่ใหญ่แล้วสามารถทำร้ายเราได้ แต่ว่าส่วนใหญ่มันใจดี แล้วช่วงนั้นก็เห็นช้างเดินถนนเยอะแยะไปหมดแล้วมันก็ร้องไห้ เราก็รู้สึกว่าฉันจะต้องทำงานเพื่อช้าง
มูลนิธิเพื่อนช้างตอนนั้นรับสมัครนะคะ แต่รับคนขับรถ เราทำด้านนี้ไม่เก่ง แล้วได้มีโอกาสไปฝึกงานกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ​ ตอนนั้นเราคิดว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษคือที่เขาเรียกว่าพิการ เหมือนมีภาพติดไว้ว่าพวกสังคมสงเคราะห์ต้องไปบ้านเด็กกำพร้า คิดว่าเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองกันได้เลย แต่เผอิญว่างานที่เพลินได้เป็นศูนย์ฝึกเด็กไม่ได้เป็น Orphanage 
ไม่ใช่บ้านเด็กกำพร้า
     เราก็ต้องมองอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้แจกผ้าห่ม แจกรองเท้า หรือไปบริจาคเงิน เราก็ได้ไปเรียนรู้ถึงการเรียนรู้เด็กเล็กหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ตอนนั้นไม่มีความรู้อะไรเลยก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่อเมริกา ต่อปริญญาโททางด้านการกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็กแล้วการศึกษาพิเศษจะอยู่สาขาวิชาคล้ายๆ กัน ก็จะเน้นไปที่ออทิสซึมด้วย 
     ตอนแรกว่าจะย้ายกลับไทยตั้งแต่เรียนจบปริญญาโทแต่มีโอกาสได้ฝึกงาน ทำงานที่นู่นด้วย ก็เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกด้วย เลยไม่ได้กลับมา ก็อยู่ 10 ปีตอนนี้กำลังทำปริญญาเอกอยู่ทางด้านพัฒนาการเด็กเล็กโดยเน้นไปที่สุขภาพจิตแล้วก็ปัญหาทางด้านพัฒนาการ

จริงๆ แล้วสิ่งที่เพลินเลือกเรียนค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจงมากๆ แสดงว่าวันนั้นที่ไปฝึกงาน ได้ไปเห็นอะไรในวันนั้นถึงรู้สึกว่าฉันต้องมาทางนี้โดยตรง
     วันนั้นอย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อกี๊ว่าเราติดภาพที่ลบๆ อยู่ในหัวว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถพัฒนาได้เลย เราต้องดูแลเขาไปตลอด ไม่สามารถเข้าห้องน้ำเองได้ เราก็เข้าไปฝึกเด็กโดยมีมุมมองแบบนั้น ไปเห็นว่าเด็กคนนี้พูดไม่ได้ เด็กคนนี้ยังคลานอยู่เลย อายุ 10 ปีแล้ว ทำไมยังไม่เดิน ร้องไห้เลยวันแรก ตอนนั้นอายุ 21 มั้ง ไปถึงปุ๊บก็ร้องไห้เลย สงสารเขา เจ้านายก็เลยบอกว่า “เพลินกลับบ้านเลย ยูไม่สามารถทำอะไรได้แล้ววันนี้”
 
ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ด้วย ณ จุดนั้น
     เจ้านายเพลินตอนนั้นเขาก็บอกว่ายูต้องตัดสินใจแล้วแหละว่าจะสงสารเขาต่อไปก็ได้ ยูไปตามบ้านเด็กกำพร้าแล้วไปบริจาคก็ได้ แต่ถ้ายูอยากที่จะช่วยเขาจริงๆ ยูต้องหยุดสงสารตั้งแต่ตอนนี้ แล้วเชื่อในศักยภาพของเขาว่าเขาสามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ ก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนนิดหนึ่ง เราต้องเปลี่ยนมุมมองของเรามากกว่า จริงๆ ไม่เกี่ยวกับตัวเขาเท่าไหร่ แต่เกี่ยวว่าเราจะมองเขาอย่างไรดี เราจะมองในศักยภาพของเขา หรือว่าจะมองว่าเขาไม่สามารถช่วยตัวเองได้แล้วน่าสงสารจังเลย
 
“ความต้องการพิเศษ”
อาจจะต้องให้เพลินอธิบายคำว่าเด็กพิเศษนิดหนึ่ง ที่เพลินบอกว่าออทิสซึมมีหลายๆ แบบ แต่ละแบบเป็นอย่างไรบ้างคะ เพราะว่าบางคนอาจจะนึกไม่ออก
     ถ้าเกิดมองเป็นการวินิจฉัย ศัพท์การแพทย์ก็จะมีดาวน์ซินโดรมหรือTrisomy 21 ,ออทิสซึม Cerebral Palsy ก็คือส่วนสมองที่คอนโทรลเรื่องการเคลื่อนไหวขาดออกซิเจนตั้งแต่เกิดก็เลยทำให้เด็กคนนั้นเป็นอัมพาตไม่สามารถขยับตัวเองได้ ต้องนั่งวีลแชร์ตลอดชีวิต ก็จะมีหลายๆ ประเภท อย่างดาวน์ซินโดรมถือว่าเป็นความต้องการพิเศษเกี่ยวกับพันธุกรรม มีหลายๆ แบบ ไม่ได้มีดาวน์ซินโดรมแบบเดียว ที่เราใช้คำว่า “ความต้องการพิเศษ” จริงๆ ก็คือเด็กที่พัฒนาล่าช้ากว่าเด็กทั่วไปด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม  
 
นี่คือกลุ่มที่เพลินศึกษาทั้งหมดโดยรวมไม่ได้ไปทางกลุ่มไหนเป็นพิเศษใช่ไหม
     ประสบการณ์โดยตรงแล้วก็เทรนนิ่งของเพลินส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ออทิสซึมแต่ว่าที่เน้นจริงๆ ก็คือเด็กเล็ก ถ้าอย่างหมอเขาก็จะเน้นไปที่สาขาวิชาของเขา แต่อย่างเพลินที่เรียนมาจะเน้นเด็กทุกคน ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 5 ขวบ แต่มองจากมุมที่ว่าพัฒนาการเขาล่าช้า พัฒนาไม่เหมือนเด็กทั่วไป เราจะฝึกให้เขาใกล้เคียงกับเด็กทั่วไปหรือ Catch Up (ตามทัน) ให้มากที่สุด
 
ตั้งแต่เกิดจนถึง 5 ขวบที่เราจะไปดูแลอย่างใกล้ชิด ที่เพลินเรียนแล้วก็ทำหลักสูตรด้วย 
     ใช่ค่ะ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Early Intervention ก็คือการกระตุ้นพัฒนาการ เป็นวิธีที่ค่อนข้างใหม่ เมื่อ  20 ปีก่อนหรือก่อน 20 ปีที่แล้วเราจะคิดว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษคือเด็กพิการไม่สามารถทำนู้นทำนี้ได้ ปล่อยให้นอนบนเตียงดีกว่า เพราะว่าไม่มีประโยชน์หรอกที่จะไปฝึกอะไรเขา แต่ว่าเมื่อมีงานวิจัยทางด้านประสาทวิทยา  ได้เรียนรู้พัฒนาการของสมองคนเรามากขึ้นเราก็จะได้รู้ว่าเด็กตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 2-3 ขวบเป็นช่วงเวลาที่มีการเติบโตทางด้านสมองมากที่สุด เด็กทุกคนเกิดมามีเซลล์สมองหรือเส้นประสาทเยอะเกินกว่าที่จะใช้ในช่วงชิวิตหนึ่ง หลังจาก 3-5 ขวบก็จะมีการตายของเซลล์ประสาท
 
ทำไมเซลล์ตายเร็วจังเลยล่ะ 
     ถ้ายังไม่ตายออกไป จะเยอะเกินไม่สามารถโฟกัสได้ แต่พอยต์คือระหว่าง 0-3 หรือ 0-5 ขวบเป็นช่วงที่คนเราต้องการประสบการณ์หลายๆ แบบเพื่อที่สมองเราจะได้ฝึกและจำ อย่างเด็กทารก เรื่องที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเขา คือ การคอนโทรลมือ คอนโทรลร่างกายตัวเอง เราก็ต้องมีการกระตุ้นหลายๆ แบบ ฝึกการจับมือ ฝึกจับของ ฝึกหยิบของ ฝึกมองหน้า ซึ่งเด็กทั่วไปเขาทำได้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเรียนรู้ที่จะทำแบบนี้ได้ แต่ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรมมีออทิสซึม สมองอาจจะพัฒนาไม่เหมือนเด็กทั่วไปเราก็ต้องสร้างประสบการณ์ให้เขาเพื่อให้เขาเรียนรู้ได้ในช่วงเวลาที่สำคัญมากช่วงเวลาที่สมองกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
 
เท่าที่รู้มา โปรแกรมที่เพลินทำเป็นโปรแกรมแรกที่ใช้ด้วย
     ช่วง 4 ปีก่อนที่จะย้ายกลับก็ไปเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่ศูนย์ฝึกเด็กที่ซานฟรานซิสโก แล้วศูนย์ฝึกนั้นเป็นสำหรับผู้ปกครองกับครอบครัวที่เหมือนเพิ่งอพยพมาที่อเมริกาใหม่ๆ อาจจะไม่ได้มีบ้านอยู่ ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาได้รับก็ไม่ได้ดีมาก แต่มีเด็กที่มีความต้องการพิเศษไปเรียนด้วย เขาก็เลยจ้างเพลินไปพัฒนาโปรแกรมให้เด็กเล็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้เขาสามารถเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้ ก่อนหน้านั้นเพลินได้ทำการเทรนนิ่งที่เขาเรียกว่า Early Start Denver Model (ESDM) ซึ่งเป็นการฝึกเด็กเล็กที่มีออทิสซึมซึ่งตอนนี้มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถทำให้กระบวนการความคิดของเด็กที่มีออทิสซึมเปลี่ยนได้เลย เหมือน Shift ให้สมองเขากลับมาเหมือนเด็กทั่วไปมากที่สุด ซึ่งโปรแกรมนี้เพิ่งเริ่มใช้ปี 2009 เอง ช่วงนั้นเพลินอยู่แถวแคลิฟอร์เนียก็มีโอกาสไปฝึกที่ UC Davis กับคนที่เขาคิดค้นโปรแกรมนี้ขึ้นมา เพลินก็เอาโปรแกรมอันนี้ซึ่งตอนนั้นเฉพาะคนรวยเท่านั้นถึงได้มีโอกาสเอาลูกไปฝึก เพลินก็มองว่าเราไปฝึกมาเราก็อยากนำมาใช้กับใครก็ได้ ยูอาจจะไม่ต้องรวยมาก ไม่ต้องขับรถไปถึงUC Davis ที่แซคราเมนโต ยูสามารถมาดร็อปลูกยูไว้แล้วก็ฝึกให้เต็มที่เลย พ่อแม่ก็สามารถออกไปหางานทำได้เพลินก็เลยเอา ESDM มาใช้ในศูนย์เด็กเล็กที่แรกในอเมริกา

สามารถอธิบายคร่าวๆ ให้เราเห็นภาพถึงวิธีการฝึกเด็กได้ไหมคะ
     ถ้าเกิดว่าใครที่ทราบเกี่ยวกับภาวะออทิสซึมก็จะรู้ว่าการปฎิสัมพันธ์เขาอาจจะเลี่ยงสายตา ไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่เราถามเราพูด เราต้องมาโฟกัสที่ปฎิสัมพันธ์ เราฝึกตรงนี้ก่อนเพื่อให้เขามองหน้าเรา ฟังสิ่งที่เราพูด เราสอนการเลียนเพราะว่าการเลียนแบบทารกยังสามารถทำได้ แต่ว่าเขายังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเด็กยังไม่สามารถมองตาได้ ปฎิสัมพันธ์ได้ หรือเลียนแบบเราได้ หรือมองเราได้จะทำให้การเรียนรู้หรือการสอนยากมาก เพราะฉะนั้นเรามาเริ่มที่จุดตรงนี้ก่อน ก็จะมีการสอนแบบที่เขาเรียกว่าทฤษฎีการปรับพฤติกรรมก็คือเราบอกเขาว่า “มองมาที่นี่” ถ้าเขามอง เราก็ให้สิ่งของ ถ้าเราตอบโต้กับคนอื่น ก็มีอะไรที่เราสามารถเอ็นจอยได้ ก็เป็นส่วนหนึ่ง        
     อีกส่วนหนึ่ง Relationship (ความสัมพันธ์) ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก เราต้องเซนซิทีฟมาก เราต้องฟังเขา เขาจะต้องรู้สึกว่าปลอดภัยเวลาอยู่ในห้อง แทนที่เราจะบังคับ ขู่ ตะโกน ต้องหาวิธีเข้าไป Attention Span (ช่วงของความสนใจ) ของเขาให้ได้ ให้เขาคิดว่าเราไม่ได้มาทำร้ายเขา เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแล้วหลังจากนั้นเขาอยากจะเรียนรู้กับเราเอง
 
เหมือนต้องได้ใจไปก่อนเนอะ จริงๆ เป็นกับเด็กทุกคน ถ้าเขาไม่อยู่กับเรา เราก็สอนอะไรเขาไม่ได้เหมือนกัน
     ถูกต้องค่ะ พี่เปิ้ลหน่อยพูดถูก และดีใจที่พูดด้วยเพราะเราไป Consult (ให้คำปรึกษา) กับโรงเรียน ครูเขาก็จะ “เราทำไม่ได้หรอก” “เราไม่ได้เรียนมาทางนี้” หรือว่า “อุ๊ยคนนี้คือเด็กพิเศษ เราไม่มีที่ให้เขานะ” ทำไมเรามองเด็กที่มีความต้องการพิเศษว่าไม่ใช่เด็ก จริงๆ แล้ว ถ้าเรามองว่าเด็กทุกคนคือเด็ก โอเค คนนี้เขาอาจจะมีภาวะออทิสซึมนั้นก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ใช่เด็ก เขาเป็นเด็กแต่ว่าเขามีความต้องการพิเศษที่เราอาจต้องปรับวิธีที่เราพูดกับเขา แทนที่เราพูด 10 คำก็ลดเหลือ 2 คำเพื่อที่เขาจะได้เข้าใจอย่าง “มาทางนี้หน่อย นั่งลง” ก็จะบอกว่า “มานี่ นั่งลง” ต้องไปเปลี่ยนวิธีพูดกับเด็ก เวลาที่เราไปปรึกษากับครู เราก็จะบอกเขาว่าไม่ได้ทำอะไรแตกต่างไปมาก ทำเหมือนเดิมนี่แหละ เพียงแต่ปรับสปีดในการพูดหรือว่าปรับความอดทนความพยายามของตัวเอง

โหอันนี้ยากเลย
ก็ยากค่ะแต่ว่าทำได้ ครูทุกคนที่ทำงานกับเด็กก็ทำได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า เขาก็เด็กและสิ่งที่เขาต้องการคือสิ่งที่ดีสำหรับเด็กทั่วไปนั่นแหละ อาจจะปรับความคาดหวังของเราเอง สปีดในการพูดของเราเอง ปรับเวลาที่เราต้องรอคำตอบจากเขา แต่ไม่ได้แปลว่าต้องโหดเหี้ยมมากขึ้น ต้องบังคับมากขึ้น ต้องมีการร้องไห้มากกว่าเด็กทั่วไป 
 
เปิ้ลหน่อยสอนเด็กทั่วไปอายุประมาณ 2 ขวบ 3 ขวบ 4ขวบ สอนเต้นซึ่งจริงๆ ก็สนุกสนานแหละ ก็ทำให้เขาอยู่กับเราไม่ยากเท่าไหร่ เราก็มีวิธีหลอกล่อ มีอยู่เคสหนึ่ง ในห้องมีหนึ่งคนที่เข้าห้องมาแล้วไม่มองหน้าเราแล้วก็ร้องไห้ ไม่อยากเรียน เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องมาอยู่ตรงนี้แล้วเขาก็กรี๊ดวิ่งรอบห้องเลย ก็เลยจะถามเพลินว่าวิธีที่เราจะทำให้เขามาอยู่กับเราได้ สอนเขาต่อไปได้คืออะไร
     ในตอนนั้นอาจจะมีหลายอย่างเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อาจจะมีผู้ปกครองคนอื่นที่มองอยู่ มีเด็กคนอื่นที่อาจจะงงว่าทำไมร้องไห้ สเตปแรกก็คือทำอย่างไรให้เขาสงบลง อาจจะให้คุณแม่เข้ามาก็ได้ ให้เขาอยู่กับคุณแม่ เหมือนถ้าเราตั้งเป้าว่าให้เขาทำทุกอย่างที่เพื่อนทำในเวลาเดียวกัน อาจไม่สำเร็จนะคะ เราก็ต้องปรับความคาดหวังของเราให้เหมาะกับสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่
คือเขาก็อาจจะกลัว ไม่ใช่อยากจะโวยวาย เขาอาจจะ “นี่คือที่ไหน” “คนนี้คือใคร” “คนนี้จะมาทำอะไรกับเรา” เพราะฉะนั้นให้เขารู้สึกปลอดภัยก่อนโดยการนั่งสังเกตก่อนก็ได้ค่ะ ถ้าเขานั่งดูแล้วเห็นว่าไม่เป็นอะไร เขาก็อาจจะทำตามก็ได้ค่ะ คงต้องใช้เวลา เด็กบางคนเข้ามาพูดนิดเดียว สอนนิดเดียวเขาก็เข้าใจ แต่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ อาจต้องลองหลายวิธี หลายๆ แบบอาจจะถามคุณแม่หรือผู้ปกครองเขาก็ได้ว่า “คุณแม่คิดว่าน้องเขากลัวหรือเปล่า หรือเขาต้องการอะไร เราสามารถทำอะไรให้น้องสงบลงได้ไหม” อาจจะเป็นให้นั่งเก้าอี้ดูจากข้างๆ ห้องก่อนก็ได้แล้วค่อยชวนน้องเขามาร่วมกิจกรรมทีหลัง
 
เมื่อกี๊เพลินพูดถึงเรื่องความคาดหวัง จริงเลยนะ ถ้าเราคาดหวัง เราคิดไว้ในหัวว่าเราจะสอนเด็ก เด็กจะต้องทำแบบนี้ๆ ได้ พอเขาทำไม่ได้อย่างเราอยากให้เป็น เราจะเครียดมาก เคยมีอยู่ยุคหนึ่งที่เราหงุดหงิดมากเลย หลังจากสอนเสร็จ เด็กดื้อมากเลย เด็กไม่ฟังเลย เราออกมาแล้วเจอครูอีกคนหนึ่ง เขาก็ถาม “เป็นไง” เราก็บอก “สุดๆ เลยคลาสนี้เฮี้ยว” เขาก็หันมายิ้มแล้วเขาก็บอก “ไม่ได้ดั่งใจสินะ” เรานี่แบบซาโตริ (บรรลุธรรม) คือเราเองชัดๆ แค่เรารู้สึกอยากให้เขาทำแบบที่เราอยากให้เป็น บางคนเขาทำอย่างที่เราอยากให้เป็นไม่ได้ เราก็เลยรู้สึกแย่จังเลยเนอะ  หลังจากนั้นอารมณ์ก็ลดลงมาหน่อย  ก็แฮปปี้ พอแฮปปี้เด็กก็ทำได้ 
     เป็นสิ่งที่พี่รู้สึกว่า “ทำไมแบบนี้” “กี่รอบแล้วทำไมยังไม่ได้” มีโมเมนต์แบบนี้อยู่แล้วค่ะ เพลินว่าผู้ปกครองก็คงมีโมเมนต์แบบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไม่รู้สึกแบบนี้เลยนะคะ แค่จะบอกว่าถ้าเราเกิดความรู้สึกแบบนี้แล้วเราต้องรู้ตัวเท่านั้นแหละว่าสิ่งนี้ที่เรารู้สึกเกิดจากสิ่งที่เขาทำหรือความคาดหวัง พอเรามีสติแล้วก็อ้อเขาแค่กำลังจะบอกว่าเขายังทำไม่ได้ โอเคเราก็ต้องหาวิธีอื่นเพราะเราคือผู้ใหญ่ เราเกิดมาก่อนเขาแล้วเรามีกลยุทธ์อะไรหลายอย่าง พอตัวเองใจเย็นลงแล้วก็ลองใหม่ 
 


ความรักของเพลิน
เมื่อกี๊เราคุยเรื่องเด็กกันไปเยอะละ เราย้อนกลับมาคุยเรื่องเพลินบ้างดีกว่าค่ะ พี่นภเคยมาเป็นแขกรับเชิญแมวค้นฅนของเราแล้วคุยเรื่องความรักไว้เยอะมาก วันนี้ก็เลยอยากรู้มุมมองของเรื่องความรักของเพลินบ้าง 
คุยไม่เก่งนะเรื่องนี้
 
พี่นภถือว่าเป็นผู้ชายโรแมนติกมากสำหรับเรา พี่นภพูดถึงเพลินตลอด มีเพลินอยู่กับเขาตลอดเวลาไม่ว่าจะไปไหน แล้วพี่นภชื่นชมเพลินมากเวลาพูดถึงนะตาพี่นภจะเป็นประกาย “เพลิน ตอนนี้เขาก็ทำงานกับเด็กนะ เปิ้ลหน่อย เขาอยู่ที่ซานฟรานแล้วเขาก็ทำนู่นทำนี่”  เราก็เลยรู้สึกว่าพี่นภเป็นผู้ชายอบอุ่น 
     โรแมนติกในมุมมองพี่ก็คือคนที่รักเดียวใจเดียวทุ่มเทมีความอบอุ่นให้ใช่ไหมคะ ถ้าแบบนั้นใช่แน่นอน เขาเป็นอย่างนั้นแต่ถ้าโรแมนติกเหมือนที่เราคิดว่าโรแมนติกนี่ เราคิดว่าพี่นภไม่ใช่นะ
 
มีดอกไม้ให้ไหมคะ
     ไม่มี มีดอกไม้จากแฟนเพลงที่เขาได้แล้วเขาเอากลับมา แล้วก็บอกว่า “นี่พี่เอามาฝาก” แล้วเราก็ขอบคุณนะคะแฟนเพลง 
 
นี่เราเมาท์กันเหมือนพี่นภอยู่ไกลเลยเนอะ ซึ่งนั่งอยู่ห้องตรงข้าม 
     ถ้าแบบในหนัง เราก็มองบนนิดหนึ่ง ทุกคนก็จะบอกว่าโชคดีมาก พี่นภโรแมนติกมากเราก็จะแบบ...โน...
 
ใต้แสงเทียนอะไรงี้
     ไม่มี้หรือเซอร์ไพรส์หรือซื้อของขวัญให้หรือว่าจำในสิ่งที่เราเคยบอกเมื่อสองเดือนที่แล้วว่าเราชอบอันนี้เราอยากได้มากเลยแล้วเขาก็ไปซื้อให้ ไม่มี คือโรแมนติกแบบที่เราดูในหนังโรแมนติกคือการที่ผู้ชายเหมือนเดาใจผู้หญิงถูกแล้วก็พาไป แล้วก็อาจจะเซอร์ไพรส์บ้าง ไม่มีเท่าไหร่
 
แต่งงานหลายปีแล้วค่ะ 
     ก็ 11 ปี ทีแรกก็ไม่เห็นเป็นแบบนี้เลย ตอนจีบก็ไม่ได้โรแมนติก ที่เพลินรักมากเกี่ยวกับตัวเขาคือเขาเป็นคนทุ่มเทมาก เขาไม่ได้รักแค่เรา เขารักครอบครัว เขาก็จะทำทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เพลิน คุณพ่อคุณแม่ญาติพี่น้องถ้าเกิดลำบาก พี่นภก็จะเป็นกำลังใจแล้วก็คอยช่วยเหลือตลอดเวลา แล้วเวลาที่เราไปกอดเขาตอนเขาหลับเขาก็จะไม่รำคาญ ไม่เหมือนเราที่โวยวาย เวลาเราไปเรียกพี่นภเขาก็จะยิ้มทั้งๆ ที่หลับอยู่ 
นี่ก็รู้ว่าเขารักเราเพราะเขาไม่รำคาญเรา
 
เขาไม่รู้หรือเปล่า ตอนนั้นฝันอยู่ ดีจังเลยมีสาวมากอด อยากให้เพลินเลือกเพลงเปิดให้เราฟังสักเพลง
เคยมีเพลงสำหรับ “เราสองคน” เหมือนในหนังไหม
ขอเปิดเพลงของ P.O.P เพลงหนึ่ง  ‘เวลา’ ค่ะ ตอนนั้นเราก็รู้จักพี่นภละ แต่ว่ายังไม่ได้คบกัน เราทำทีนทอล์ก พี่นภก็ออกอัลบั้มเพลงนี้ แล้วตอนที่ลูกพี่ลูกน้องเรากำลังขับรถพาไปส่งบ้าน เพลงนี้ขึ้น เราก็ “ว้ายเสียงพี่นภ คงดีเนาะถ้าวันหนึ่งเราได้แต่งงานกับผู้ชายคนนี้”
 
ตอนนั้นรู้จักกันหรือยัง
รู้จักกันแล้ว แต่ยังไม่ได้เป็นแฟนกัน 
 
แล้วคิดแต่งงานกับเขาแล้วเหรอ 
เราก็คิดว่าคงดีนะถ้าวันหนึ่งเราได้แต่งกับผู้ชายคนนี้ เขาคงร้องเพลงให้เราฟังทุกวันก่อนนอน แต่ก็ไม่ค่อยได้ร้องเพลงให้ฟังหรอก พี่นภหลับก่อนตลอด
 
ว่าที่ด็อกเตอร์เพลิน ประทุมมาศ พรชำนิ
ตอนนี้เพลินกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่
     ใช่ค่ะตอนนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์เกือบเสร็จแล้ว
อีกนิดเดียวสินะ
     ทำมาแค่ 8 ปีเอง เหลืออีกนิดหนึ่งค่ะ ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว กำลังวิเคราะห์อยู่
อีกเฮือกเดียวเนาะ หลังจากจบแล้วแพลนหรือยังว่าเป้าหมายต่อไปคืออะไร
     ตอนนี้เพลินก็เริ่มแล้วทำงานแล้ว ให้คำปรึกษากับพ่อแม่หลายๆ คน ไปตามบ้าน ไปฝึกเด็กไปที่โรงเรียน ไปโค้ชครูบ้าง แต่ในอนาคตอยากทำอะไรที่มีผลกระทบที่ใหญ่ขึ้น เราไม่ต้องการทำศูนย์เล็กๆ แล้วฝึกปีละ 10 - 20 ครอบครัว 10 - 20 คนในเมื่อเราไปเรียนรู้ขนาดนี้ ไปทำงานได้ประสบการณ์ถึง 14 ปี เราต้องทำอะไรให้มีประโยชน์มากที่สุด เวลาเราก็มีน้อย เวลาผ่านไปเร็วมาก ทุกวันอยากจะสร้างโปรแกรมเผื่อสร้างบุคลากรทางด้านนี้ให้เพิ่มขึ้นในประเทศไทย อยากจะกระตุ้นการพัฒนาการเด็กเล็กเหมือนเป็นสาขาวิชา ตอนนี้เหมือนกับว่าถ้าไปเรียน ต้องไปเรียนการศึกษาพิเศษ หรือไปเรียนจิตแพทย์จิตเวชเด็ก เราต้องการให้มีสาขาวิชาการกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็ก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดใครที่รู้จักมหาวิทยาลัยต่างๆ และอยากเริ่มโปรแกรมนี้อาจจะเป็นมาสเตอร์โปรแกรมในปริญญาตรีแต่ว่าต้องทำหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันนะคะ ฝึกเด็ก ฝึกพ่อแม่ ฝึกบุคลากรจะได้มีคนทำงานทางด้านนี้เยอะๆ 
 
ดูเป็นเรื่องใหญ่มากเหมือนกันนะพร้อมกับมันแค่ไหน
     ตอนนี้ก็มองว่าต้องทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จก่อน หลังจากนั้นก็สร้างอะไรเล็กๆ ก่อนแล้วค่อยๆ ขยายค่ะ ตอนนี้ก็รู้จักคนทำทางด้านนี้แต่ไม่เยอะ ก็พอมีเดี๋ยวพอจบด็อกเตอร์ก่อนค่อยมาคุยกันว่าทำอะไรกันดี
รู้จักคนที่ต้องการเรียนเพื่อไปสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษติดต่อมาได้นะ เพราะกำลังจะสร้างทีมอยู่  
 
ติดต่อทางเฟสบุ๊กแคทก็ได้ค่ะ
     หรือว่าอีเมล มาก็ได้ค่ะ plearn@outlook.com
 
สามารถติดต่อได้นะคะ เพลินจะฝากพวกเราเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างไรบ้าง
     อยากจะฝากไว้ว่าเวลาเราออกไปตามที่ต่างๆ เราอาจจะขึ้น BTS อยู่ ไปทำงาน ไปซื้อกับข้าว ถ้าเราเห็นเด็กที่เหมือนไม่ค่อยปกติ ให้รู้ตัวว่ามี Reaction 2 แบบ แบบที่ 1 แปลกมากอย่าไปยุ่งเลย เดินหนี กับแบบที่ 2 สงสารมากเลย อย่ามีรีแอ๊กชั่นแบบนี้ มีก็ได้แต่ให้รู้ว่าเกิดจากเราไม่คุ้น เราไม่เข้าใจเขาหรือเปล่า
     แทนที่จะไปตัดสินว่าเด็กคนนี้ไม่ปกติ โอ๊ยครอบครัวนี้เลี้ยงลูกอย่างไร ทำไมแม่คนนี้ตามใจ คือ เราไม่รู้หรอกค่ะว่าเรื่องราวของเขาเป็นอย่างไร ที่มาของเขาเป็นอย่างไร จะบอกว่าจากที่เราเรียนรู้มา ครอบครัวที่มีความต้องการพิเศษไม่ได้ง่าย มีความเครียดเยอะมาก เพลินคิดว่าทุกคนเลี้ยงลูกก็ยากอยู่แล้ว เครียดอยู่แล้ว ยิ่งลูกที่มีความต้องการพิเศษ ก็ยิ่งมีความเครียดที่เพิ่มมาที่ต้องเจอในรูปแบบต่างๆ เวลาเขาออกไปตามที่ต่างๆ แล้วยังมีสังคมที่อาจจะเหมือนหันมามอง จะยิ่งทำให้ยากยากขึ้นเรื่อยๆ ก็ขอร้องคนที่อยู่ในสังคม ถ้าเกิดเราเจอเคสแบบนี้ ให้เราลองมาคิดดู เราอาจเข้าไปฮัลโหล เป็นไง ให้เราช่วยอะไรไหม แทนที่เราจะไปตัดสินเขาอย่างเดียว
 
แต่ที่น่าสนใจ คือ แบบแรกเชื่อว่าพวกเรากันเองคงรู้ว่าไม่ดี แต่แบบที่สอง “น่าสงสารจังเลย” ก็ไม่ดีเหมือนกัน
     เราอาจจะคิดว่าเราหวังดีมั้ง แต่ว่าเราก็ต้องมองด้วย สมมุติเราบอกว่า “พี่เปิ้ลหน่อย ลูกพี่มีความต้องการพิเศษใช่ไหม น่าสงสารจังเลย”
 
เราไม่ได้ต้องการอะไรแบบนั้น ไม่ได้ช่วยอะไรด้วย
     เราก็พลาดมาแล้วหลายครั้ง เพราะจริงๆแล้วมันไม่มีใครเพอร์เฟกต์
 
ฝั่งของฝรั่งที่พูดเรื่องนี้ค่อนข้างบ่อยอย่างในหนัง ไม่ใช่แค่เด็กพิเศษเท่านั้น อย่างคนที่เขาเป็นคนพิการ ทำไมต้องมองว่าเขาคือคนป่วย มองเขาเป็นคนเฉยๆ ได้ไหม เท่ากัน เหมือนกันทุกอย่าง ไม่ต้องมาช่วย ไม่ต้องมาทำอะไรให้ฉัน
     มีคำถามว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเด็กที่มีความต้องการพิเศษ อยากจะบอกว่าที่เราทำงานกับเด็กกับครอบครัวที่เขาฐานะดีมาก ในขณะเดียวกันเราก็เคยเจอครอบครัวที่ไม่ได้มีเงินมาก คุณพ่อคุณแม่ก็มีความล่าช้าทางด้านพัฒนาการเหมือนกัน คุณลูกก็เป็นเหมือนกัน บางครอบครัวก็จะมีคุณแม่ที่ดูแลเด็กสามคนที่มีอาการออทิสซึมหมดทุกคน คือเราเห็นมาเยอะเหมือนกันว่าชีวิตประจำวันเป็นไง เรารู้สึกเป็นเกียรติมากที่เราได้มีโอกาสนี้ เราได้ไปสัมผัสว่าอะไรที่สำคัญ ความเป็นมนุษย์คืออะไร ความรัก เป็นอย่างไร ความเครียดเป็นอย่างไร เราไม่ได้ประสบด้วยตัวเองนะ แต่เห็น เราเรียนรู้จากชีวิตคนอื่นมาเยอะเราจะบอกว่า Judgement จากสังคมบางทีมัน Hurt มากบางทีเราตัดสินเขาในช่วงเวลานั้นๆ แล้วเราก็ไปดูหนังต่อ กลับบ้าน แต่โมเมนต์นั้นสำหรับคนๆ นั้น สามารถทำลายเขาได้ มันเจ็บแล้วมันเจ็บลึกด้วยค่ะ
 
วันนี้เราก็ได้เรียนจากเพลินมาอีกทีหนึ่ง หลังจากเพลินได้เรียนรู้สิ่งที่เพลินไปทำงานมา จากประสบการณ์ที่ได้ไปสัมผัสเด็กพิเศษและครอบครัว จริงๆ ยังมีหลายคำถามแต่ว่าตอนนี้หมดเวลาแล้ว ฝากอะไรอีกนิดไหมคะ 
     สำหรับครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเผชิญอยู่กับสิ่งเหล่านี้อาจจะเพิ่งทราบว่าลูกตัวเองมีความต้องการพิเศษแล้วรู้สึกว่าอยู่คนเดียว ไม่มีใครเข้าใจ อยากจะบอกว่ามีกลุ่มพ่อแม่มูลนิธิเรนโบว์รูมนะคะ ซึ่งมีประสบการณ์ ทุกคนมีลูกที่มีความต้องการพิเศษ ทุกคนเคยผ่านประสบการณ์มาเยอะเหมือนกัน เขาสามารถ ไม่ใช่ช่วยคุณนะ แต่เขาสามารถเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ของเขาเพิ่มเติมเพิ่มจากสิ่งที่เราเรียนรู้จากหมอ เพราะว่าหมอก็จะทราบในเชิงของวิธีการรักษาทางแพทย์ แต่ถ้าเกิดเราอยากจะทราบว่าชีวิตประจำวันเป็นไง เข้าโรงเรียน การใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวเป็นไง เพลินแนะนำว่าให้ไปพูดคุยกับผู้ปกครองที่เคยผ่านมาแล้วเขาจะสามารถแบ่งปันอะไรดีๆ ให้เยอะเหมือนกันค่ะ มูลนิธิเรนโบว์รูม เพลินเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วยอยู่ที่ทองหล่อซอย 25 นะคะคือเซิร์ชใน Facebook : The Rainbow Room Foundation (https://www.facebook.com/specialrainbow/) ได้เลยค่ะ
 
วันนี้เราได้ความรู้มากมาย ขอบคุณว่าที่ด็อกเตอร์เพลินประทุมมาศ พรชำนิค่ะ อ้อ แต่ยังมีเวลาอีกนิดหน่อย อยากให้เพลินเล่าถึงอีกอย่างให้ทำคือ โปรเจกต์ Life Is 
     Life Is เป็นโปรเจกต์ที่เพลินทำกับพี่นภ พี่บอย โกสิยพงษ์ ด้วยแต่ว่าพี่นภเป็น CEO นะคะ 
จุดประสงค์ของ LIfe Is คือการสร้างคอมมูนิตี้ที่มีโซเชียลอิมแพกออร์แกไนเซชั่น โฟกัสไปที่การซัพพอร์ตคน 
เราสามารถไปตามดูรายละเอียดได้ที่ไหนได้บ้างคะ 
     http://www.lifeisgroup.org/ ค่ะ
 
ติดตามรายละเอียดงานที่เพลินทำเพื่อเด็กๆ และสังคมกันได้ต่อไป
และอย่าลืมติดตามรายการแมวค้นฅนที่จะชวนทุกคนไปรู้จักกับบุคคลหลากหลายอาชีพในมุมมองแตกต่างกันไป  ทุกวันพฤหัสบดี 21.00 -22.00 น. ที่ Cat Radio www.thisiscat.com, app: Cat Radio

DJ NOO

12:00-15:00

Listen Live

Now Playing