Bed Tips Stoondio

Bed Tips by Bedroom Studio
 
Bed Tips จาก Stoondio
ออกอากาศเมื่อ 29 พฤษภาคม 2564

Stoondio : the 9th year
          “สวัสดีค่ะ ชื่อตูนนะคะ โชติกา คำวงศ์ปิน หรือที่รู้จักกันในนามวง Stoondio ค่ะ ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ Stoondio จะมีอายุวงครบ 9 ขวบพอดี เพราะว่าปล่อยครั้งแรกให้คนรู้จักเพลง ‘UNTITLED 001’ในปี 2021 นะคะ ช่วงเดือนสิงหาคม เหมือนกัน” 

UNTITLED 001 - Stoondio
 
สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดในการแต่งเพลง
          “เวลาแต่งเพลงสักเพลงเราให้ความสำคัญมากที่สุดกับประเด็นที่ต้องการสื่อ แล้วก็เรื่องที่อยากจะเล่า ต้องการจะพูดอะไร สื่้อสารอะไรก็ต้องให้คนฟังรู้สึกเหมือนกับที่เราอยากจะส่งออกไป ต้องรู้สึกหรือเข้าใจ หรือรู้ที่มาที่ไปได้เท่าๆ กับเรา แล้วก็ไปตีความของเขาเองค่ะ”
 
กระบวนความคิดในการแต่งเพลงและเรียบเรียง
          “กระบวนความคิดในการแต่งเพลงสักเพลงและเรียบเรียง มีวิธีทำหลายอย่างมากเลยที่จะได้เพลงๆ หนึ่ง แต่จะยกตัวอย่างวิธีหนึ่งสำหรับเราเองที่เร็วที่สุด คือ เราจะมีเรื่องที่อยากเล่าก่อน เก็บไว้ บางทีก็เขียน จดไว้เลย หรือการไปเจอ vibe ของดนตรีต่างๆ ที่เราชอบว่าแบบนี้ให้ความรู้สึกแบบไหน ก็จะเอาไปบวกกับเนื้อเพลงที่เรารู้สึกว่าเข้ากัน ก็จะได้โครงสร้างของเมโลดี้ เนื้อร้อง ทำนอง โพรเสสนี้สำหรับเราเร็วมาก เพราะว่าทำแทบตลอดเวลา ทำเป็นนิสัยน่ะค่ะ แต่
 
          ช่วงเวลาที่ขึ้นมาเป็นเพลงในชิ้นงาน ก็คือการเรียบเรียง ซึ่งเราสะดวกตอนไหน ว่างตอนไหน อยากจะเรียบเรียงก็ค่อย เรียบเรียงเขาค่ะ
 
แรงบันดาลใจของ Stoondio
          เรื่อง inspiration สำหรับเรามีเยอะมากเลย น่าจะเริ่มตั้งแต่สมัยเด็กๆ เพราะว่าเราอยู่โรงเรียนคริสต์ โรงเรียนที่เป็นคาทอลิก ก็จะมีไปโบสถ์บ้าง ฟังเพลงพวกคริสต์มาสหรือเพลงที่อยู่ในบรรยากาศโบสถ์กังวานๆ
 
          ตอนเด็กๆ เราไม่รู้หรอกว่าคืออะไร แต่สำหรับเรา รู้สึกว่า บรรยากาศมันดีเนอะ ดูกังวาน พาให้เรารู้สึกไปได้ ทั้งที่เราไม่ได้ฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่องเลย หรือบางเพลงไม่ได้มีเนื้อร้องด้วยซ้ำ พวกนี้ค่อนข้างเป็นวัตถุดิบของเราในการทำเพลงตอนโต เพราะเราชอบบรรยากาศของเสียงเครื่องดนตรีกังวานๆ พวกนี้นะคะ
          แล้วก็เราให้ความสำคัญกับตอนเด็กๆ มากที่สุดเลย เพราะมองย้อนกลับไป มันเป็นจุดตั้งต้นจริงๆ น่าจะเป็นเพลงประกอบการ์ตูนต่างๆ พวกวอลต์ดิสนีย์ หนังเวิลด์ๆ หน่อยที่คอร์ดเพราะมาก จะมีคอร์ดความคลาสสิก อีกอย่าง
          ตอนเด็กๆ เราจะฟังเพลงแกรมมี่ยุคก่อน พวกเพลงหน้าบี เพลงที่ไม่ได้ดัง เพราะสมัยนั้น บ้านเราเป็นบ้านที่ซื้อเทปอยู่แล้ว บ้านเราชอบอุดหนุนศิลปินค่ะ เราจะพบว่าเพลงเพราะๆ แอบซ่อนอยู่เยอะมากที่ไม่ใช่เพลงโปรโมต
          เราอ่านปกเทป ซีดีทั้งหมดเลย เราพบว่างานที่เราชอบ เป็นงานเรียบเรียงของผู้ที่ใช้ชื่อว่า บรูโน่ บรูแกโน่ (Bruno Brugnano) ตูนเคยไปเสิร์ชประวัติดู เขาเป็นคนอิตาลี ที่มาทำเพลงในเมืองไทยให้แกรมมี่ แล้วเราค่อนข้างชอบวิธีการทำงานเขามากเลย และชอบโทนของดนตรีเขามาก เราไม่เคยได้ยินอะไรแบบนี้ในเพลงไทย งานของคนนี้ทำให้เพลงไทยเพลงนั้นพิเศษสำหรับเรา งานของบรูโน่คือครูของเราเลย
 
เพลงที่แต่งเร็วที่สุด
          “ทุกเพลงของ stoondio จะค่อนข้างเขียนและแต่งเร็วมากค่ะ อาจจะเป็นเพราะว่าเรารู้ว่าเราอยากจะเล่าอะไร จะไม่พยายามยัดเยียดไปปักธงว่าฉันจะต้องทำเพลงนี้เพลงนั้น เราไม่นับกระบวนการที่ถูกคำสั่งเป็นการทำงาน 


เรานับว่าเรามี inspire อะไร นั่นคือวินาทีที่ 1 ของการทำเพลงค่ะ”
 
เพลงที่ใช้เวลาแต่งนานที่สุด
          “เพลงที่ใช้เวลาแต่งนานที่สุด เรื่องของเนื้อร้องทำนอง ตูนไม่ค่อยมีปัญหา ถ้าเราคิดออก จะเร็วมากว่าเรื่องที่ต้องการพูดคืออะไร แต่สิ่งที่ทำให้ช้าคือ ช่วงเรียบเรียงจนออกมาเป็นชิ้นงานเพลงน่ะค่ะ ก็จะทำให้นาน
 
          ตัวอย่างก็คือ เพลงที่ยังไม่ปล่อยของเราเพราะว่ายังคิดไม่ตก ช้าอยู่แล้วเนาะ ถ้าเป็นเพลงที่ปล่อยแล้วได้ยินมาบ้าง ที่ทำช้าคือเพลง ‘ลำพัง’ ค่ะ จริงๆ เนื้อเพลงเสร็จเรียบร้อยในกระบวนการที่แป๊บเดียวมาก แต่ตัวดนตรี ตัวขั้นตอนการเรียบเรียงช้า เพราะว่าเราพยายามไปยัดเยียดดนตรีมากเกินไป คิดสไตล์ใช้สมองเยอะกว่าความรู้สึกน่ะค่ะ คิดว่าไม่เท่บ้าง อยากนู่นอยากนี่อยากนั่นจนสุดท้ายเรารู้สึกว่ามันดูปลอมๆ วิธีแก้ คือ ทำให้กลับมาเป็นเพลงที่เพราะที่สุดน่ะ ลดความซับซ้อนในการคิดลง ก็เลยจบมาเป็นเพลงได้ แต่ข้อดีก็เป็นเพลงที่ทำงานประมาณหนึ่งก็คือ มีความแตกต่างจากเพลงก่อนๆ อื่นๆ อยู่บ้างค่ะ” 

ลำพัง - STOONDIO

คำแนะนำในการแต่งเพลงที่ดีที่สุดที่เคยได้รับมา
           “คำแนะนำในการแต่งเพลงที่ดีที่สุดที่เคยได้รับมา คือ การแต่งเพลงไปข้างหน้า ค่ะ พัฒนาในด้านดนตรี มีความเข้าใจในเสียง ในทฤษฎีดนตรีมากขึ้น
          ต้องยอมรับว่าเราอยู่ตรงนี้มาเก้าปีเนาะ ก็นานมากพอที่เราจะตกผลึกแล้วล่ะ และมีคนอื่นมาบอกแทนเรา แทนที่เราคิดเองแล้วว่าเรามีจุดแข็งอะไรเนาะ เพราะฉะนั้นคำแนะนำก็จะมาอุดจุดอ่อนของเรา ก็นี่แหละค่ะ การพัฒนาทางด้านดนตรีและการเขียนเพลงที่ไม่เหมือนเดิมแต่ยังเป็นคนเดิมอยู่ คือ ในหนึ่งเพลง เราต้องพาคนฟังผจญภัยไปกับช่วงเวลาสามสี่นาทีนั้นให้ได้ แล้วก็ทำให้น่าฟังในทุกท่อน ทั้งหมด เหมือนดูหนังเรื่องหนึ่งที่มีแต่ละพาร์ตของมันแลออกมาก็ยังงดงามอยู่ เป็นคำแนะนำที่ตูนรู้สึกว่าทำให้เรามีพัฒนาการเนาะ ทำให้เรารู้สึกว่าเรารักที่จะทำมันจริงๆ ยังรักที่จะทำมันอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ทดลองไปกับมันน่ะค่ะ นี่ถือว่าเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดเลย”
 
คำแนะนำที่อยากส่งต่อถึงนักดนตรีรุ่นใหม่
          “คำแนะนำที่อยากให้นักดนตรีรุ่นใหม่ ง่ายนิดเดียว คือ อย่าเลิกทำ ทำไปเรื่อยๆ ค่ะ จริงๆ แล้วคนเรามีสิทธิ์ที่จะขี้เกียจได้บ้าง ไม่อยากทำได้บ้าง ชะลอมันได้บ้าง แต่ว่าดีที่สุดคือ อย่าไปหยุดทำค่ะ ทำไปเรื่อยๆ”
 
Stoondio เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ขยันทำผลงานเสมอ
          ติดตามได้ที่เพจ https://www.facebook.com/Stoondio และยูทูบ toon stoondio นอกจากเพลงแล้วยังมีถ้อยคำ ผลิตภัณฑ์ การแสดงพิเศษให้ได้ชมกันเนืองๆ 

ขอบคุณ (Live Gigs "Velastoon") - Stoondio

          และติดตามข้อคิด แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของรุ่นพี่หลากหลายสไตล์ได้ในช่วง Bed Tips ในรายการ Bedroom Studio ทุกวันเสาร์ 11.00-14.00 น. ที่ Cat Radio

MUSIC SWEEP

00:00-11:00

Listen Live

Now Playing