Bed Tips : Fender Solitude is Bliss
Fender’s Bed Tips
เกร็ดจากประสบการณ์แต่งเพลงของเฟนเดอร์ - ธนพล จูมคำมูล
นักร้องนำและมือกีตาร์ Solitude Is Bliss
อีกหนึ่งวงดนตรีฝีมือเยี่ยมจากจังหวัดเชียงใหม่
ออกอากาศในรายการ Bedroom Studio
เมื่อ 12 มิถุนายน 2564
Hello Fender
สวัสดีครับ เฟนเดอร์ ร้องและกีตาร์ริทึ่มจาก Solitude Is Bliss ครับ ปีนี้เรากำลังจะเริ่มทำงานใหม่บนอัลบั้มอีพี เพื่อสำรวจไดเร็กชั่นใหม่ๆ ของดนตรีนะครับ
สิ่งสำคัญในการแต่งเพลง
“เวลาแต่งเพลงสักเพลง ผมก็ไม่ได้วางส่วนใดส่วนหนึ่งไว้ให้เป็นเรื่องที่ต้องโฟกัส แบบสำคัญที่สุดไว้ที่เดียวนะครับ
ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับขั้นตอนมากกว่า ว่าเรากำลังทำเพลงอยู่ในขั้นตอนไหน ถ้าเป็นขั้นตอนแรกสุดคือเขียนเพลง ก็จะเป็นเรื่องเนื้อเพลง เนื้อหา คำ ความคล้องจอง หลังจากเดโม่ก็จะเป็นเรื่องคอมโพสดนตรี นะครับ ก็เป็นเรื่องท่อน ทางคอร์ดอะไรต่างๆ นานา หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของดนตรีแบบฟูลแบนด์น่ะครับ ก็เป็นการอะเรนจ์เมนต์ กับเครื่องดนตรีต่างๆ ทุกชิ้นที่เป็นไปได้ ที่วงสามารถเล่นด้วยกันได้ครับ”
(Yellow Line - Solitude Is Bliss )
กระบวนความคิดในการแต่งเพลง
“ในการแต่งเพลง เรียบเรียงเพลงสักเพลงนะครับ ผมไม่ได้มีฟอร์มที่ชัดเจน แต่มีกิจวัตรในการเก็บเกี่ยววัตถุดิบ ในการที่จะดึงมาแต่งเพลงอีกทีหนึ่งน่ะครับ ก็จะเป็นนิสัยที่หัดให้ตัวเองพยายามจดบันทึกอะไรๆ อยู่ตลอดเวลา อะไรที่แล่นเข้ามาในหัว จะมีความหมาย หรือจะไม่มีความหมาย จะเป็นแค่มู้ดเฉยๆ หรือว่าจะ เป็นไอเดียหนึ่งที่เรายังไม่รู้ว่าจะต่อยอดไปทางไหนได้ ก็จดไว้ให้ชัดที่สุด เท่ากับสิ่งที่เราคิดออก ณ เวลานั้น หรือว่าแล่นเข้ามา ณ เวลานั้น ครับ ต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการดึงเอาวัตถุดิบเหล่านี้มาต่อยอด หรือว่ามาทบทวนดูว่าบริบทของมัน ณ เวลานั้น ที่ได้คิดได้รู้สึกที่แล่นมา ณ ตอนนั้น เราคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ เราอยากจะจบความรู้สึกพวกนั้นอย่างไร อาจจะกลายเป็นคำถาม หรือว่าชุดคำตอบหนึ่งให้ตัวเอง ก็เอามาต่อยอดให้เป็น rhyme เป็นความคล้องจองเป็นท่อนเป็นบทมากขึ้น พอเรารู้ว่าเป็นเรื่องแบบไหนหรือเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับไอเดียเหล่านั้นแบบไหน เราก็จะเริ่ม สำรวจวิธีการใช้คำที่น่าสนใจหรือว่าทำให้เรารู้สึกว่า “เอ๊ะอะไร” สะดุดขึ้นมา ตัวผมที่ผมเป็นคนเขียนเอง เวลาอ่านไปก็จะรู้สึกว่าเอ๊ะ จู่ๆ ดึงไปเรื่องนี้ได้อย่างไร เสร็จแล้วก็ตบมาด้วยคำพูดหรือชุดคำศัพท์บางอย่าง ที่ดึงคำเหล่านั้น กลับเข้ามาในเรื่องหนึ่งครับ นอกจากการพยายามแต่งเนื้อเพลง หรือว่าการพยายามสรุปความหมาย ตกผลึกกับความหมายอะไรบางอย่างก็จะเป็นเรื่องของมู้ด ครับ จะเป็นมู้ดและอารมณ์ของดนตรีล้วนๆ เลยครับ ผมเป็นคนเล่นกีต้าร์อะเนาะ ผมก็จะเล่นกีตาร์โปร่ง แล้วก็อาจจะเริ่มต้นด้วยชุดคอร์ดบางชุด หรือว่าอาจจะแค่คอร์ดเดียว สองคอร์ดแล้วก็ฮัมเนื้อเพลงพวกนั้นให้เป็นเมโลดี้ พอได้ฟอร์มสักฟอร์มหนึ่งแล้วเราก็จะสามารถมี template ของท่อนต่อๆ ไปว่าเป็นแบบนี้ จำกัดได้พยางค์ประมาณนี้ แต่ก็ดิ้นได้อีกที ด้วยความเป็นเพลงเนาะ คำเยอะไปก็ตัดหรือแรปเลย
ต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการแต่งให้จบครับ แต่งให้จบในความรู้สึกที่เรียบง่ายที่สุดครับ เพราะว่าถ้าเราได้หมุดหมาย ของการจบขั้นตอนมาได้สักจุด เราก็สามารถถอยออกไปเป็นมุมมองของผู้สังเกตการณ์ แล้วก็ดูภาพรวมได้มากขึ้น เหมือนเราเปลี่ยนตัวเองจากคนเขียนมาเป็นคนฟัง พอเราเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนมุมมองเราก็จะเริ่มรู้สึกกับมันได้เยอะขึ้น แล้วก็เห็นภาพรวมเห็นความเป็นไปได้ของมันมากขึ้นครับ
ต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของ การพัฒนาใส่เล็กใส่น้อย ตัดเล็กตัดน้อยออกครับ ปั้นๆ ไปทีละนิดทีละหน่อย จนกว่าเราจะพอใจของเราเอง แล้วยิ่งถ้าเป็นการทำงานของวง เราก็จะมีจุดที่มันจบได้แน่นอนครับ ก็คือเราได้โครงดนตรี ขึ้นต้น จบแบบนี้ ซ้ำกี่ท่อน มีริฟฟ์ตรงไหน มีเมโลดี้ตรงไหนที่เราอยากแน่นเป็นพิเศษไหมพอเรามีองค์ประกอบพวกนี้ครบแล้ว เราก็สามารถโยนให้วงต่อได้ แล้วก็นัดวงมาช่วยกันคิด ซ้อม แล้วก็ช่วยกันคิดจังหวะ คิดไปทีละชิ้นเลยครับ แล้วก็ประกอบร่างสร้างตัว กลายไปเป็นคอมโพสแบบดราฟต์ เดโม่ แรกในฉบับฟูลแบนแล้วเราก็สตาร์ตวนลูป โพรเซสแบบนี้ใหม่ แต่แค่เปลี่ยนจากการทำงานคนเดียวเป็นการทำงานทีม”
( 4 A.M. - Solitude Is Bliss)
ปัญหาที่พบบ่อยสุดเวลาแต่งเพลง
“ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ คิดไม่ออกครับ ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ ช่วงแรกๆ ที่ผมหัดเขียนเพลง ผม ค่อนข้างจะดันทุรังกับเรื่องพวกนี้ครับ คิดไม่ออกก็นั่งคิดอยู่อย่างนั้นน่ะครับ นั่งตะบี้ตะบันนั่งเค้นนั่งสะกดจิตตัวเองอยู่บนโต๊ะเขียนงาน แล้วก็รู้สึกผิดหวังกับการที่ตัวเองคิดไม่ออกเขียนไม่ออกมากๆ ครับ เพราะว่า คาดหวังกับตัวเองว่าตัวเองอยากจะเป็นนักแต่งเพลง แล้วก็พอเกิดความเฟลแบบนี้ขึ้นมาก็เริ่มมีความวิตกกังวลว่านั่งคิดขนาดนี้แล้วยังคิดไม่ออก จะไปเป็นนักแต่งเพลงได้อย่างไร เวลาผ่านมาเรื่อยๆ น่ะครับ ประสบการณ์ก็บอกว่าถ้าคิดไม่ออกก็เป็นเพราะว่าเรากดดัน หรือว่าวิสัยการมองโลกหรือการมองสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ นั้นน่ะแคบลงเรื่อยๆ จนเราไม่ได้มีตัวเลือก ทางเลือกอื่นๆ ที่เราสามารถหยิบมาลองใช้ได้ ผมก็เลยแก้ด้วยการหยุดเลยครับ หยุดคิดเลย ถ้าคิดไม่ออกก็หยุดแล้ววางมันไว้ตรงนั้นก่อนแล้วก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้สังเกตการณ์แทนครับ เป็นคนฟังแทน แทนที่จะเป็นคนคิด ก็ไปฟัง ว่าในตัวมันมีอะไร แคทชี่ หรือว่า เราชอบตัวมันเองหรือยัง ถ้าความรู้สึก ไอเดียแรกของเรามาถูกต้อง มาถูกทางแล้ว เดี๋ยวก็จะมอบทางเลือก ใหม่ๆให้กับเราเอง บวกกับ สถานะการมองโลกของเรา สภาพจิตใจ ของเราในการโฟกัส เปิดกว้างขึ้นน่ะครับ ก็จะมอบทางเลือกของเรา ให้กับเรา เยอะขึ้นเอง”
(ทิ้ง - Solitude Is Bliss)
คำแนะนำที่อยากจะฝากถึงนักดนตรีรุ่นใหม่
“ผมคิดว่าคงจะเป็นคำแนะนำที่ อมตะนิรันดร์กาลที่สุดแล้วครับ ก็คือไม่ว่าเราจะทำอะไร อาชีพไหน หรือว่าเราตัดสินใจที่จะทำอะไร เราก็ต้องนำด้วยความรัก ความชอบครับ ความรักความชอบที่ว่านี่คือ
เราดีใจที่มันเกิดขึ้นมา เราดีใจที่ได้ทำมัน เราตื่นเต้นที่อยากจะเห็นมันพัฒนาต่อไป เราดีใจที่เห็นงานจบลง งานสำเร็จลงได้ แล้วเราก็ตื่นเต้นที่จะดูว่ามันจะทำงานอย่างไรต่อไป เพราะว่าตรงนั้นก็จะเป็นขอบเขตที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมอะไรได้แล้ว เป็นเรื่องของเอื้อมถึงคนฟัง เอื้อมถึงโลกอีกทีหนึ่ง เราก็จะวนลูปกลับมาที่การเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง ก็คือเราเริ่มมีใจ เริ่มมีความอยากเริ่มงานชิ้นใหม่ ทำมันขึ้นมาแล้วก็ตื่นเต้นที่จะเห็นมันพัฒนา ตื่นเต้นที่จะเห็นมันสำเร็จ ก็วนไปวนมา
(เพียงสิ่งเดียว - Solitude Is Bliss)
มุมมองด้านการประชาสัมพันธ์หรือนำเพลงไปให้ถึงผู้ฟังยิ่งขึ้น
“ในจุดที่เป็นเรื่องการปล่อยเพลง พีอาร์ หรือว่าการไปถึงคนฟังได้มากขึ้นนี่ ผมคิดว่าก็มีวิธีการตามยุคสมัยอยู่แล้ว มี protocal ของมันอยู่นะครับ ก็คือช่องทางการเผยแพร่ เดี๋ยวนี้ก็จะเป็นสตรีมมิ่งต่างๆ นานา เผยแพร่ทางดิจิทัล แล้วก็เผยแพร่ทาง physical product ก็จะเป็นเรื่องซีดีหรืออะไรต่างๆ นานา นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องของการนำโชว์ นำดนตรีสดไปถึงคนฟังให้ได้มากขึ้น
ทีนี้ก็จะเป็นเรื่องของคอนเน็กชั่นครับ แล้วก็การกล้าที่จะติดต่อหรือแนะนำตัวเองว่าเรามีงานแบบนี้อยู่ แล้วก็เสนอตัวเองเข้าไปเล่นให้ผู้ฟังให้มากขึ้น ผมคิดว่าการพาตัวเองให้นักฟังได้ไปเห็นดนตรีของจริงที่เราเล่นสดน่ะครับสำคัญมากๆ เพราะว่ามันคือเมจิกของดนตรีสดน่ะครับ ผมก็อธิบายไม่ถูก เราก็รู้กันอยู่แล้วเนอะว่ามนต์สะกดของการไปฟังดนตรีสดดีๆ นั้นเป็นอย่างไรนะครับ อย่างประสบการณ์ส่วนตัวของ โซลิจูดฯ ตอนปล่อยเพลงอีพีอัลบั้มแรกน่ะครับ (Montage : 2557 ) ฟีดแบ็กก็ไม่ได้ ไม่ได้ชัดเจนมากน่ะครับ จากการแค่ปล่อยเพลงไปตามช่องทางดิจิทัลเฉยๆ แต่คนมารู้จักมากขึ้นเพราะว่าเราไปเล่นสดเยอะขึ้น แล้วเขาก็เห็นว่าเรามี energy มีความรู้สึกร่วมบางอย่างที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อหน้าเขา แล้วเขาก็ติดตามเรามาตั้งแต่ตอนนั้นน่ะครับ
สำหรับในฐานะศิลปินหรือว่าคนทำงานเพลงหรือคนครีเอตชิ้นงาน การเข้าไปจริงจังกับงานส่วน พีอาร์ งานส่วนมาร์เกตติ้งอะไรต่างๆนานา ผมคิดว่าเป็นภาระเกินสิ่งที่เราจะทำได้ดีไปหน่อย บางคนอาจจะทำได้ดีนะครับ อันนั้นก็เป็นความสามารถพิเศษของเขาไป แต่ผมคิดว่าพอเราไปหมกมุ่นกับจุดนั้นมาก อาจจะพาให้เราไปหมกมุ่นกับผลของมัน หรือว่าฟีดแบ็กของมันมากจนเกินไป แทนที่เราจะ back to basic สู่ความสุขในการทำงานของเรา ความตื่นเต้นความรักในการสร้างงานขึ้นมาครับ”
อีกหนึ่งตัวอย่างการแสดงสดในรูปแบบใหม่ที่จัดเต็มของ Solitude Is Bliss ที่แฟนๆ ได้ชม ออนไลน์ไปเมื่อ 15-17 มิถุนายน 2564
ส่วน Bed Tips ที่รวมรวมข้อคิดกระตุ้นแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของรุ่นพี่หลากหลายสไตล์
ก็ฟังได้จากช่วง Bed Tips ในรายการ Bedroom Studio ทุกวันเสาร์ 11.00-14.00 น. ที่ Cat Radio