BED TIPS: PENGUIN VILLA

BED TIPS: PENGUIN VILLA
(เรียบเรียงจากการออกอากาศในรายการ Bedroom Studio ทาง Cat Radio เมื่อ 3 กรกฎาคม 2564)
 
          เจ - เจตมนต์ มละโยธา ในนาม Penguin Villa เปรียบดังหัวหน้าหมู่บ้านเพนกวินที่ดูแลลูกบ้านอันประกอบด้วยบทเพลงไพเราะ เต็มเปี่ยมด้วยความรู้สึกนึกคิดสะกิดใจ แต่ก็ฟังได้สบาย จากปลายปากกาของเจ นักดนตรี โปรดิวเซอร์ มือฉกาจ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินในสังกัดสมอลล์รูม เพลงโฆษณามากมาย รวมถึงเป็นหนึ่งในสมาชิกวงพราวที่ทำเพลงชวนฟังมาตั้งแต่ ‘เธอคือความฝัน’ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน และยังมีผลงานหลากหลาย อาทิ โพรเจกต์บัวหิมะ ที่เขาร่วมกับนักเขียนรางวัลซีไรต์ ปราบดา หยุ่น ทำเพลงประกอบนวนิยายชุด "ชิท-แตก" ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล" (Last life in the universe) ของ เป็นเอก รัตนเรือง ส่วนเพลงป๊อปของเพนกวิน วิลล่า ที่ชูโรงด้วยกีตาร์และเนื้อหาที่พาเราไปสู่ความสุข ความสนุกในการเรียนรู้ชีวิตผ่านมุมมองต่างๆ อาทิ ‘Acrophobia’ ‘Good Moring’ ‘เธอคือความจริง’ ‘ความลับในฝูงปลา’ ‘น้อยนิดมหาศาล’ นับเป็นอีกหนึ่งศิลปินนักแต่งเพลงรุ่นพี่อารมณ์ดีที่รุ่นน้องอยากรู้เคล็ดลับในการทำงานมากคนหนึ่ง 

Acrophobia

เจตมนต์ มละโยธาให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุดเวลาแต่งเพลง
          ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ชีวิตตามวัย พอสมควร ตามสิ่งที่เราได้รับอิทธิพลมา เพลงที่เราฟังครับ บางช่วงก็จะให้ความสำคัญกับคอร์ด บางช่วงก็จะให้ความสำคัญกับเมโลดี้ร้อง บางช่วงก็จะให้ความสำคัญกับคำ
          ถ้าเป็นช่วงนี้ก็เหมือนพยายามกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการแต่งเพลง ช่วงแรกๆ ที่เราชอบที่จะแต่งเพลงที่ทำนองเพราะๆ ช่วงนี้ก็เลยก็เลยให้ความสำคัญกับเมโลดี้ร้องมากที่สุดครับ แล้วก็ค่อยตามด้วย เนื้อหาเรื่องราวครับ 

น้อยนิดมหาศาล

ทุกวันนี้ มีกระบวนการคิดในการแต่งและเรียบเรียงเพลงอย่างไร
          ถ้าเป็นเพลงตัวเอง ช่วงนี้เราไม่รู้จะเริ่มอย่างไรก็มีบ่อยนะครับ ดังนั้น แค่มีความรู้สึกอยากแต่งเพลงนี่ น่าจะดีที่สุดแล้ว
          เราอาจจะแค่มีความอยากแต่งเพลงเป็นจุดเริ่มต้น คราวนี้ก็ตั้งโจทย์ครับ ถ้าเพลงโฆษณาจะมีโจทย์จากลูกค้า จากครีเอทีฟให้ แต่พอเป็นเพลงตัวเอง ถ้าเราไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไรก็ตาม แค่อยากแต่งเพลงสักเพลงหนึ่ง บางทีก็ลองตั้งโจทย์คร่าวๆ ก่อนครับ อาจจะเป็นภาพ บางทีลองคิดถึงฉากภาพยนตร์ ฉากไหนสักฉากหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้น อาจจะเป็นการกำหนดถึงมู้ดแอนด์โทนของเพลงนี้ครับ เช่น เราอยากแต่งเพลงแล้วเราชอบฉาก ที่พระเอกนางเอกนั่งในรถไฟแล้วก็ผ่านทิวทัศน์ คิดแบบนี้ก็ได้ครับ
          แล้วก็เราจะเอาเพลง ช้า หรือกลางหรือเร็ว คราวนี้ก็กำหนดจังหวะครับ ถ้าช่วงนี้เหมือนเพลงในโลกมีแต่เพลงช้า เราก็ทำเพลงช้าไปกับเขาก็ได้ครับ ให้จังหวะแล้ว คราวนี้ก็ละเอียดไปเป็นริทึ่มด้วยก็ได้ครับ ว่าจะเป็นจังหวะแบบ 3 - 4 หรือว่าจังหวะ 4 - 4 อาจจะเริ่มจากให้ได้เมโลดี้สัก 2 ประโยค ให้เป็นขวัญและกำลังใจก่อนครับ ผ่าน 2 ประโยคแรกไปให้ได้ก่อน เป็นแกน เป็นหัวใจ อาจจะเป็นท่อนเวิร์สก็ได้ หรือท่อนฮุกก็ได้ ก็ขอให้ได้สัก 2 ประโยคก่อนที่จะประกอบภาพในหัวที่เราคิดให้ได้ครับ

Good Morning
 
ยกตัวอย่างเพลงครูของ Penguin Villa
          เพลงที่จัดว่าเป็นครูของผมหรือว่าเป็นแรงบันดาลใจก็มีหลายช่วงเวลาเหมือนกัน จะลองยกมา 3 ช่วงใหญ่ๆ นะครับ ก็คือช่วงแรกที่แต่งเพลงแรกๆ ก็จะเป็นเพลงที่ฟังมาตั้งแต่เด็กครับ เพลงพี่แจ้ ‘ฝันลำเอียง’ เพราะรู้สึกว่าเมโลดี้เพลงนี้ติดหูมาตลอดครับ ตั้งแต่ไหนแต่ไร ก็เลยรู้สึกว่าเพลงนี้น่าจะมีอิทธิพลกับเราพอสมควรฮะ

ฝันลำเอียง

          แล้วก็เพลงที่ 2 นี่เรียกว่าเป็นยุคที่เริ่มชื่นชอบในการใช้คอร์ดแปลกๆ ฮะ ก็จะเป็นเพลงแบบริตป๊อปครับ ยกตัวอย่างเช่นเพลงของ Oasis อย่าง ‘Marry With Children’ ความที่มันดีดกีตาร์โปร่งเฉยๆ น่ะครับ เราจะรู้สึกได้ว่าการทำงานของกีตาร์โปร่งแค่ตัวเดียวนี่แสดงถึงศักยภาพของคอร์ดได้เป็นอย่างดีครับ เพราะว่าถ้าเกิดเราฟังเพลงที่มีเครื่องดนตรีทั้งหมด เราอาจจะเห็นประสิทธิภาพของฮาร์โมนีของเครื่องดนตรีต่างๆ แต่เพลงที่ได้ฟังแบบของ Oasis ที่ใช้กีตาร์โปร่งตัวเดียว เราก็จะรู้สึกว่า “อ้อ เกิดจากพลังของคอร์ดกับเมโลดี้เลยนะฮะ” 

Marry With Children – Oasis

          ช่วงที่ 3 ก็จะเป็นช่วงที่เริ่มชื่นชอบความแบบเรียบง่ายในเพลงครับ ก็จะมีศิลปิน 2 ท่าน คือคุณ ณภัทร สนิทวงศ์ ครับ กับ Youth Brush เป็นช่วงที่ผมฟังวนอยู่นี่ครับ ก็เลยมีหลายเพลงของคุณณภัทรก็จะมีเพลง ‘ดวงอาทิตย์’ เรียบง่าย ร้องไม่เยอะฮะ เช่นเดียวกับ ‘Youth Brush’ ครับ เช่น ‘ชื่อเพลงไรดี’ ก็มีทั้งความมินิมัลแล้วก็ความเรียบง่าย แต่ว่ามีความสวยงามในการใช้ถ้อยคำครับ 

 
ดวงอาทิตย์
 
ปัญหาอะไรที่พบบ่อยที่สุดในการแต่งเพลง
          ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในการแต่งเพลง ก็จะเป็นเรื่องทำนองที่เราชื่นชอบ แล้วเราติดน่ะครับ สมมติเรา ได้ทำนองนี้มาแล้ว โห เราแก้มันไม่ได้ละ แล้วเราหาคำลงไม่ได้สักทีครับ คำมันเยอะกว่า คำมันน้อยกว่า หรือ คำมันถูกความเป็นความตายของเสียงในภาษาไทย ทำให้ใส่เมโลดี้นี้ไม่ได้ ก็เป็นปัญหาที่เจอประจำ บางทีก็ต้องยอมที่จะเปลี่ยน บิดทำนองไป บิดริทึ่มของทำนองไปบ้างเพื่อให้ได้คำนี้ก็มีครับ ในทางกลับกัน ก็มีคำร้องที่เราชอบ เราอยากร้องคำนี้ แต่หาทำนองใส่ไม่ได้ แต่ปัญหาหลังนี่ไม่เท่าปัญหาแรกที่ชอบทำนองมาก เพราะเราจะรู้สึกว่ามันนำพาอารมณ์ไปแล้วน่ะครับ พอแต่งทำนองขึ้นมาได้ เราก็จะติดทำนองนี้แล้วก็พยายามหาคำ ใส่ให้ได้ วิธีแก้ก็คือ บางทีก็ต้องยอม ยอมที่จะประนีประนอม บิดทำนองไปบ้างครับ ถ้าคำร้องมันชนะ ก็ต้อง ยอมฮะ 

เธอคือความจริง

คำแนะนำที่ได้รับแล้วส่งผลต่อตัวเองในการทำงาน
          มีคำแนะนำจากคนอื่นที่ได้ฟังแล้วรู้สึก เกิดผลกระทบ ทำให้เรารู้สึก “โอ้...ต้องทำเพลง แต่งเพลง” ก็คือ พี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ - ผู้บริหารสมอลล์รูม) ครับ ตอนนั้นผมคิดว่าจะไม่ทำอัลบั้มแล้ว จะทำเพลงโฆษณาไปเรื่อยๆ ครับ พี่รุ่งบอกว่า ทำเลย ทำอะไรก็ได้ ครับ แค่นี้เอง อาจจะดูง่าย แต่คลายความกดดันมากครับ คือทำอะไรก็ได้น่ะครับ นี่แหละเป็นคำแนะนำที่ดีมากครับ 

ความลับในฝูงปลา
 
คำแนะนำถึงน้องๆ
          ถ้าจะบอกน้องๆ เรื่องการแต่งเพลงก็อยากให้เขียนเยอะๆ ครับ หัวใจของการเขียนเพลงคือการเขียนน่ะครับ โอเคคนที่อ่านเยอะก็อาจจะได้เปรียบในบางอย่าง แต่ผมว่าคนที่ชอบเขียนน่าจะได้เปรียบมากกว่าคนที่ชอบอ่าน ในแง่ของคนเขียนเพลง เพราะฉะนั้น อาจจะต้องลองเขียนดู บางทีเขียนอะไรง่ายๆ ก่อนก็ได้ สั้นๆ น้อยๆ 3 - 4 ประโยค เขียนถึงอะไรก็ได้แล้วแต่ นึกภาพแล้วก็เขียนบรรยาย ผมว่าเขียนเยอะๆ นี่จะช่วยเราได้

โลกไม่ใช่ของเรา - บัวหิมะ
 
ทำอย่างไรถึงจะนำพาเพลงไปถึงผู้ฟังหมู่มาก
          คำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่เพิ่งทำเพลงนะครับ เกี่ยวกับเรื่องการที่จะนำพาเพลงเราไปถึงคนฟังหมู่มากนะครับ พี่ก็มีจุดที่ตามหาสิ่งนั้นอยู่ แต่เท่าที่สังเกตดู เราทำเพลง นอกจากทำเพลงที่เราชอบเองแล้วครับ ตอนที่ทำเพลงนี่ พี่มักจะนึกถึงรสนิยมของคนฟังด้วยครับ ว่าคนฟังส่วนใหญ่ชอบแบบไหน เพราะว่าเราก็อยากให้คนชอบเยอะๆ อยู่แล้ว คือ นอกจากเราชอบแล้วพี่มักจะนึกถึงจินตนาการ แล้วก็วิเคราะห์ถึงรสนิยมของคนฟัง ซึ่งคงเป็นเรื่องประสบการณ์ล้วนๆ น่ะครับ การฝึกวิเคราะห์ว่าทำไมเพลงนี้คนชอบ ซึ่งอาจจะค่อนข้างจะ นามธรรม subjective มาก แต่อยากให้ลองครับ ลองวิเคราะห์ดูว่า คนฟังชอบแบบไหน วิเคราะห์ให้ได้ แล้วก็ทำไป ถ้าเพลงมันดีจริงๆ น่ะครับ บางทีมันอาจจะทำงานได้เองโดยที่เป็นพีอาร์ของมันเอง บางทีมันอาจจะได้ไปอยู่ในโฆษณาสักโฆษณาหนึ่ง มีใครฟังแล้วก็แชร์ เอาไปประกอบในซีรีส์ สักตอนหนึ่ง ฉากหนึ่ง ก็อาจจะกลายเป็นเพลง แบบ 70 ล้านวิวได้ ขอให้เราชอบแล้วก็วิเคราะห์ได้ว่า คนฟังชอบแบบไหนครับ 

ร้อยล้านวิว

          เป็นคำตอบและคำแนะนำจากประสบการณ์จริงของหัวหน้าหมู่บ้านเพนกวินที่พาเพลงไปถึงหัวใจของอีกหลายหมู่บ้าน ติดตามผลงานของ Penguin Villa ที่ https://www.facebook.com/penguinvilla https://www.facebook.com/smallroommusic
 
ติดตามคำแนะนำของเหล่ารุ่นพี่ และผลงานเพลงของน้องๆ รุ่นใหม่ได้ใน Bedroom Studio ทุกวัน 
เสาร์ 11.00-14.00 น. ที่ Cat Radio

MUSIC SWEEP

00:00-11:00

Listen Live

Now Playing