VIDEO
1517 - The Whitest Boy Alive
สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดเวลาแต่งเพลง
ว่าด้วยเรื่องการแต่งเพลง ความสำคัญที่จะให้มันแล้วแต่โปรเจกต์ แล้วแต่โจทย์ แล้วแต่เป้าหมายที่ได้ทำในช่วงนั้นนะครับ
ถ้าสมมุติ เป็นเพลงป๊อป ก็อาจจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทำนอง แล้วก็ตัวเนื้อร้องว่าจะต้องสื่อสารอย่างไร โครงสร้างการเล่าเรื่องเป็นอย่างไร คำที่ใช้ในเรื่องเป็นอย่างไร
แต่ถ้าสมมุติว่าเป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อเรื่อง เป็นเพลงประกอบก็จะให้ความสำคัญกับตัวซาวด์คัลเลอร์นะครับ เครื่องดนตรีที่จะใช้ แล้วก็จุดที่จะเอาไปประกอบกับภาพว่าสมเหตุสมผลพอหรือเปล่านะครับ
ส่วนถ้าเป็นโปรเจกต์มาทางงานอาร์ตหน่อยอย่างวงซัมเมอร์เดรสหรือว่าเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวของผมนี่ ก็จะให้ความสำคัญกับแนวคิดมากกว่าครับ ว่าเราอยากจะทดลองอะไร อยากจะรู้ผลลัพธ์อะไรมากเป็นพิเศษหรือเปล่า แล้วก็คิดกระบวนการขึ้นมาเพื่อจะเอาไปลงมือทดลองดูว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนะครับ
สรุปแล้วคือขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับโจทย์ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่เราทำด้วยครับผม
กระบวนการแต่งเพลงทุกวันนี้ของเต๊นท์ ศิวนัส
ส่วนตัวของเต๊นท์ไม่ได้มีกระบวนการที่ชัดเจนนะครับว่าเราจะต้องเริ่มต้นลำดับ 1 2 3 4 แบบนี้ทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าเริ่มต้นที่องค์ประกอบทางดนตรีอะไรมาก่อนนะครับ
อย่างเช่นถ้ามีคอร์ดมาก่อน ด้วยการที่เราไปนั่งเล่นเปียโนจนเกิดการเดินทางของคอร์ดที่เราชอบแล้วนี่ ทำนองก็อาจจะตามมา แล้วก็ค่อยใส่เนื้อเรื่องแล้วค่อยเอาไปเรียบเรียง
หรือบางทีเราอาจจะเริ่มจากการที่เราเลือกซาวด์ไลบรารี่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเสียงสังเคราะห์ เสียงแซมเปิล เสียงลูปต่างๆ จากในคอมอันนั้นก็เริ่มต้นได้ ก็จะเริ่มจากการสแต็กกิ้ง (Stacking) เสียงพวกนั้นให้กลายเป็นการเรียบเรียงเป็นท่อนคร่าวๆ ก่อนแล้วค่อยทำทำนองแล้วก็หาเนื้อเรื่องเข้าไป
หรือว่าเราอาจจะมีเนื้อเรื่องมาก่อนก็ได้นะครับ อย่างเช่นเราเจอคำๆ นี้ วลีนี้เราชอบมากเลยก็เอาเนื้อเพลงมาตั้งต้นแล้วก็ใส่ทำนอง ใส่คอร์ดให้มันแล้วก็เรียบเรียงมัน เพราะฉะนั้นสำหรับผมกระบวนการอาจจะเริ่มจากตรงไหนก็ได้นะครับ ซึ่งก็แนะนำน้องๆ นะครับว่า ถ้าเราถนัดแบบไหน ก็ลองเลย การสร้างเพลงๆ หนึ่งขึ้นมา เป็นแบบไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราถนัดอย่างไร
VIDEO
D-OK feat. Summer Dress - ออม Telex Telexs
ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดเวลาแต่งเพลง
ปัญหาจากการที่เราทำเพลงแต่งเพลงนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเนื้อเรื่อง เรียบเรียงดนตรี หรือเริ่มประพันธ์ดนตรีขึ้นมา ผมว่าปัญหาสำหรับผมคือ พอทำไปถึงจุดหนึ่งในเพลงๆ หนึ่ง สมมุติว่าทำไปสัก 1นาที เราจะเริ่มตันและเราจะเริ่มคิดไม่ออกว่าท่อนต่อไปหรือว่าสิ่งที่กำลังจะดำเนินต่อไปจะเป็นอะไรนะครับ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งอาจารย์ผมก็เสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการคอมโพสิชั่นเพลงหรือว่าเรื่องเกี่ยวกับดนตรีทั้งหมดเลยนะครับ
คือดนตรีนี่ การรับฟังการรับรู้ของมันดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆ เขาบอกว่าก็พยายามให้คิดเรื่องการเทนชั่น (Tension – ความตึงเครียด) กับรีลีส (Release –คลี่คลาย) ว่า เราจะบริหาร เทนชั่นกับรีลีสนี้ยังไงนะครับ
อย่างเช่นเราทำเนื้อร้องอยู่ ท่อนที่เรากำลังติดอยู่หรือว่าเรากำลังสร้างไปแล้ว เป็นความตึงเครียดบางอย่างที่รอการคลี่คลายไหม เช่น เนื้อร้องอาจเริ่มมี มีปัญหาอะไรบางอย่าง ท่อนต่อไปเราอาจจะเริ่มเขียนในสไตล์ที่เนื้อหาเริ่มคลี่คลายลง เริ่มมีข้อสรุปเริ่มมีตัวละครใหม่ๆเข้ามา มีบทบาทในเนื้อเพลงมากขึ้นอย่างนั้นเป็นต้นนะครับ
หรือว่า ในเรื่องของดนตรี การทำทำนองก็ใช้หลักการนี้ได้เหมือนกันเลย รวมๆ คือการบริหาร ตัวเทนชั่นกับรีลีสนี่แหละ ผมว่าก็จะเป็นทางแก้ไขได้นะครับ
แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเรายังเริ่มต้นอยู่นะครับก็พยายาม หา element (องค์ประกอบ) เนาะ ฟังเพลงที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรานี่แหละแล้วก็พยายามลองดึงมาใช้นะครับว่า วิธีการแบบนี้น่าจะเวิร์กกับเพลงของเรา ก็ลองมาใช้ดูได้ครับ
VIDEO
The Beatles Fever – Summer Dress
คำถามถึงอาจารย์เต๊นท์และคำตอบ
ถ้าเป็นนักศึกษาปีต้นๆ นะครับ ปี 1 ปี 2 เขาอาจจะยังไม่ค่อยได้เริ่มทำผลงานนะครับ ยังไม่ได้ลงมือแต่งเนื้อร้อง ยังไม่ได้ลงมือเรียบเรียงดนตรี หรือยังไม่ได้ทำโปรดักชั่นเกี่ยวกับดนตรีมากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะมีคำถามในเรื่องทฤษฎีนะครับ ว่าโมทีฟ (motif) คืออะไร การสร้างโมทีฟให้หลากหลายนี่คืออะไร หรือว่าการคอนทราสต์ (contrast) คืออะไร ซึ่งเรื่องพวกนี้จะเป็นเรื่องที่เด็กปีต้นๆ นี่สงสัยมากนะครับ เราก็จะอธิบายก็ตามคำนิยามของมันนะครับแล้วก็การนำไปใช้
ซึ่งสามคำที่ผมพูดออกไปนี่ โมทีฟ แวรีเอชั่น (variation) คอนทราสต์ นี่ เป็นวิธีคิดในการสร้างทำนอง โมทีฟก็คือเหมือนกับเป็นกิมมิก (gimmick) เล็กๆ ทางขั้นคู่เสียงหรือว่าทางจังหวะนะครับที่ทำให้เรารู้ว่าเพลงนี้มันคือเพลงอะไร อาจจะเป็นเพลงของบีโทเฟนอย่างเช่นโมทีฟ ปัมๆๆ (ฮัมประกอบ) เป็นสามโน้ตที่จะถูกใช้ให้มีความหลากหลายมากขึ้นภายในเพลง ทำให้เรารู้ว่าคือซิมโฟนีเบอร์นี้นะครับ ของบีโทเฟน
ส่วนตัวคอนทราสต์ก็คือ การทำให้ตัวแนวทำนอง เกิดสีสันที่แตกต่างกัน โน้ตในช่วงท่อนเวิร์ส กระจัดกระจายอยู่ประมาณสามโน้ต โดเรมี มีเรโด มีเรโด เรมีมี แต่พออยากให้เกิดคอนทราสต์เราก็เริ่มต้นด้วยสูงก่อนเลย ซอลโด้ ก็เป็นตัวอย่างการใช้วิธีคอนทราสต์ ซึ่งทำให้เพลงสื่อสารกับเราได้มากขึ้นนะครับ
ส่วนถ้าเด็กโตๆ ขึ้นมาหน่อย ก็จะเริ่มทำงานเป็นแล้วนะครับ ทั้งเชิงการแต่งเพลงทั้งเรื่องของโปรดักชั่น ส่วนใหญ่ก็จะมาถามเรื่องของโปรดักชั่น เรื่องของเทคนิคัล ว่าซาวด์สังเคราะห์ตรงนี้ ทำอย่างไรนะครับ หรืออันนี้มันใส่รีเวิร์บหรือเปล่าหรือว่า จะส่งงานมาให้คอมเมนต์ให้เราติชมกันไปว่าเขาควรจะแก้อะไรบ้างนะครับ
VIDEO
Symphony No.5 - Beethophen
คำแนะนำถึงรุ่นน้อง
ถ้าเราอยากมีเพลง ทำงานดนตรีด้วย เป็นโปรเจกต์ของเราเอง หรือว่าเป็นศิลปินนี่ ผมคุยกับเพื่อนหลายคน อย่างจิน (วรเมธ มตุธรรมธาดา) ที่ทำโปรเจกต์ Part Time Musicians นะครับ เขาก็บอกว่าต้องซื่อสัตย์แล้วก็จริงใจกับงานตัวเองมากๆ ก่อน อย่าเพิ่งไปรู้สึกว่าอยากจะทำแบบนี้ เพราะว่าคนอื่นเขาทำกันเยอะ หรือว่าเราจะทำอันนี้เพราะว่าได้รับการยอมรับอะไรบางอย่างจากสังคมคนฟังเพลง จากสังคมคนคนทำเพลง
ซึ่งอยากแนะนำว่าเราพยายามจริงใจในแบบที่เราทำก่อนนะครับ แรกๆ ก็อาจจะยังไม่ค่อยดีหรอก ผลงานแรกไม่มีใครทำเพลงได้ดีเลยอยู่แล้วนะครับ เดี๋ยวเราก็จะค่อยๆ ได้รับพลังหรือว่าได้รับตัวทักษะมากขึ้นนะครับ จากการทำเยอะๆ นะครับ แล้วก็พยายาม
นอกเหนือจากความจริงใจที่เราจะทำขึ้นมาแล้ว ความซื่อสัตย์ที่เราทำในงานของเราแล้วนะครับ ก็พยายามตั้งคำถามกับงานเราบ่อยๆว่า มันกำลังไปในทิศทางไหนแล้วเราอยากให้มันเป็นแบบไหนต่อไปครับ หรือเราจะพัฒนาความหลากหลายในงานของเราให้มีสีสันมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร พวกนี้ก็จะทำให้ ตัวงานของเราหรือว่าสังคมดนตรีของเรามีความหลากหลายมากขึ้นนะครับ มีทางเลือกให้ผู้ฟังแล้วก็ช่วยตัวสังคมของดนตรีของเรา ให้ก้าวไปอีกระดับได้นะครับ
VIDEO
Joviality of Shadow - Summer Dress
นักแต่งเพลงคนอื่นที่เต๊นท์สนใจหรืออยากฝากเราไปถามเคล็ดลับ
ผมชอบเพลงของพี่เป้ อารักษ์มากนะครับ 2-3 เพลงหลัง ยิ่งสนใจว่าเขาคิดตัวเนื้อร้องอย่างไรนะครับ เป็นประสบการณ์จริงหรือเปล่า หรือว่าเป็นเรื่องที่เขาเขียนขึ้นมาจากสิ่งรอบตัวเขาหรือว่าเขาจินตนาการขึ้นมาจนกลายเป็นเนื้อเพลงนี้
แล้วก็จะมีโปรดิวเซอร์ของพี่เป้ อารักษ์ ชื่อ MACHINA (เมฆ - สุขุม อิ่มเอิบสิน ที่ผมสนใจในวิธีการทำเพลงมากๆ ก็ทางแคท เรดิโอสามารถสัมได้ก็ยินดีมากๆเลยนะครับ ขอบคุณมากเลยครับ
(อ่านเคล็ดลับของเป้ อารักษ์ ได้ที่ Bed Tips http://www.thisiscat.com/news/detail/20983 )
ติดตามผลงานของเต็นท์ได้ที่ https://smarturl.it/summerdressFB http://smarturl.it/gameofsoundsFB
และฟังเคล็ดลับของนักแต่งเพลงหลากหลายแนวได้จากช่วง Bed Tips ในรายการ Bedroom Studio ทุกวันเสาร์ 11.00- 14.00 ที่ Cat Radio
รู้ไปทำแมว
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่เต๊นท์ร่วมทำเพลงประกอบ เช่น Hotel Mist กำกับโดย ปราบดา หยุ่น (เต๊นท์ทำเพลงร่วมกับ ไผ่ – จิติวี บาลไธสง จากวง PLOT) The Master กำกับโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (เต๊นท์ทำเพลงร่วมกับอาจารย์พิซซ่า - ชัยบรรฑิต พืชผลทรัพย์ จากวงพราว)