รายการ แมวค้นฅน
พฤหัสบดี 22ธันวาคม 2565
ออกอากาศทาง www.thisiscat.com app: Cat Radio
ดีเจ สับปะรดแนน ณัฐกฤตา พงษ์ธนานิกร
แขกรับเชิญ จรัส ภาคอัด
อดีตคนโปรดักชั่นทีวีที่มีผลงานเบื้องหลังนับสิบปี
ที่ผันตัวสู่เบื้องหลังร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา จังหวัดอยุธยา
เป็นที่รู้จักในนาม ลุงเหมียว เรือนจรุง
ผู้เปิดบ้านให้แขกมาทานอาหาร
แบบ Private Dining หนึ่งมื้อ หนึ่งโต๊ะ
เสิร์ฟด้วยเมนูบ้านๆ รสชาติธรรมดา
ที่คนส่วนใหญ่ชิมแล้วบอกว่า “ไม่ธรรมดา”
และมีอัตราการจองเต็มข้ามปี จองแล้วต้องรออีกเป็นปี
แต่ก็มีคนรอทุกปี เคยมีสถิติเต็มภายใน 8 วินาที
และยังคงคิวเต็มข้ามปีอยู่เช่นเคย
บางส่วนจากการค้น
“ทำบนความเชื่อ ใช้ฟีลลิ่ง”
เรือนจรุง เปิดมาแล้ว 5 ปี 6 เดือน
เสิร์ฟอาหารเฉพาะเสาร์-อาทิตย์
วันอื่นๆ พี่เหมียวหรือลุงเหมียวก็ “ใช้ชีวิต”
ลองชิมอาหาร เครื่องดื่มในร้านอื่นๆ
ปีที่ผ่านมาเขาตั้งใจไปกินร้านอื่นๆ ร้านที่มีชื่อเสียง ร้านที่มีคนแนะนำ ร้านของคนที่เคยไปกินเรือนจรุง
“ย้อนไปถ้าเราอยู่ในวงการโปรดักชั่นทีวี เพลง ต้องรู้โลกหลากหลาย เห็นเรเฟอเรนซ์
ทำอาหารก็ต้องไปลองชิม ไปดูของคนอื่นบ้าง”
เหมียวอยู่ในวงการมีเดียทางด้านเพลงมานาน ตั้งแต่ Channel V Thailand ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ที่ Music Channel เข้ามาในบ้านเรา และทำอีกหลายรายการ หลายบริษัท รวมทั้งเปิดบริษัทโปรดักชั่นของตนเอง
“ชีวิตตอนนี้ โดยเนื้อหางานถือว่าไม่ตัน เรือนจรุง เหมือนโปรดักต์หนึ่ง ที่ยังต้องโปรโมต ยังต้องคิด
แค่หลังบ้านเราไม่ได้ต้องไปออกกกองถ่าย เราทำกับข้าว”
จุดเปลี่ยนอาชีพ : เพราะไม่มีตังค์
“ในช่วงที่ดิจิทัล disrupt ทั้งทีวีและดนตรี ว่างก็ไปพักที่อยุธยา ที่เขาเคยอยู่ตอนเด็กๆ แล้วก็เริ่มปลูกบ้าน หรือ “ปรุงเรือน” จากเรือนเดิมของคุณทวด ในพื้นที่ของครอบครัว ซึ่งเขาเอง แรกๆ ก็คิดเพียงอยากมีที่พัก หลังกินดื่ม จะได้ไม่ต้องรีบขับรถกลับ กทม
พอปลูกไปเรื่อยๆ ก็เริ่มซึมซับวิถีชีวิตในอีกแบบหนึ่ง
“เริ่มรู้สึกชอบความเรียบง่าย และไม่มีใครเรียกกลับมาทำงาน
เงินเก็บหมด ไม่มีตังค์ ชิลไม่ได้แล้ว
เปิดโฮมสเตย์ 1 เดือน เลิก ไม่ใช่เราที่ต้องดูแลคน 24 ชั่วโมง”
แต่เรื่องของเพื่อนมาเยี่ยมบ้าน หรือการทานอาหารด้วยกัน ยังเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าทำได้ และน่าจะตรงกับความต้องการของทั้งเจ้าของเรือนและแขก
“การเปิดเรือนจรุง ก็เป็นบ้านของพี่ที่เปิดให้มากินข้าวบ้าน เหมือนมากินข้าวบ้านเพื่อน แต่ต้องจ่ายตังค์”
ส่วนเรื่องของการที่ต้องรอนาน ก็เพราะเปิดน้อย เสาร์-อาทิตย์ และแม้เหมียวจะบอกว่า “อาจเป็นอุปาทานหมู่” เป็นความรู้สึกหลังจากได้ยินคนบอกปากต่อปากตั้งแต่เริ่มต้น หรือรีวิวต่างๆ
แต่ที่แน่นอนคือ ความชัดเจน และการคิด การทำของเขา ที่ต่อเนื่อง
“ เรือนจรุงมีคาแร็กเตอร์ บางอย่าง มีความชัดเจน
เราเป็นอย่างไร เราพูดสื่อสารแบบไหน
การมากินข้าวบ้านเรา ต้องรับความเป็นเราได้ระดับหนึ่ง”
ส่วนเรื่องขั้นตอนต่างๆ ทั้งการจองคิวล่วงหน้าที่โดยเฉลี่ยจะข้ามไป 1 ปี การสั่งเมนูก่อน 1 อาทิตย์ ก็มาจากต้นทุนคือ บุคลากรที่ปรุง ซึ่งเป็นแม่ๆ น้าๆ ที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวและทำในจังหวะของตนเองและสอดคล้องกับธรรมชาติของที่ร้าน และน่าจะทำให้คนที่มาชิม อิ่ม และรู้สึกแตกต่างจากร้านอื่นแม้เมนูจะธรรมดา
“คนทำครัว คือ แม่ น้า ญาติทั้งหมด
อาหารไทยปกติ น้ำพริกปลาทู ไข่พะโล้ แกงเขียวหวาน ปลาทอด
เป็นร้านข้าวแกงที่จัดวางในภาชนะหนึ่ง
ที่เรามีคำตอบให้หมดเลย ใครทำ ทำเมื่อไหร่
เรือนจรุง มีคาแร็กเตอร์ มีความตรงไปตรงมา”
ติดตามการจองคิวและรู้จักเรือนจรุงให้มากขึ้นฝากการบอกเล่าของลุงเหมียวแบบออนไลน์ ก่อนไปสัมผัสกันที่บ้านของเขา
ได้ที่ https://th-th.facebook.com/ruenjarung.ayutthaya.real.chillin.house/
และติดตามการค้นชีวิตของคนหลากหลายที่เลือกทำสิ่งที่ชอบได้ที่ Cat Radio ทุกวันพฤหัสบดี 3 – 4 ทุ่ม
#แมวค้นฅน #catradio #แมวค้นเหมียว